เจ็บคอ คันคอ ไอแห้งๆ
ผู้ถาม จุฑามาศ/สุโขทัย
ดิฉันมีอาการเจ็บคอ คันคอ และไอแบบแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ตอนนี้ดื่มน้ำอุ่น แต่ก็เป็นๆ หายๆ มาหลายวัน จึงอยากจะขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีอาการเช่นนี้
ดิฉันมีอาการเจ็บคอ คันคอ และไอแบบแห้งๆ ไม่มีเสมหะ เวลากินของมันหรือของหวานจะแสบคอมาก และไอมาก ตอนนี้เปลี่ยนมาดื่นน้ำอุ่นแทนการดื่มน้ำเย็น แต่ก็เป็นๆ หายๆ มาหลายวันแล้ว ไม่หายขาดสักที จึงอยากจะขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรดีเมื่อมีอาการเช่นนี้
ผู้ตอบ น.พ.วิทวัส วัณนาวิบูล
ในทางเวชปฏิบัติ มีผู้ป่วยมาหาแพทย์ด้วยปัญหาแสบคอ คันคอหรือคออักเสบ โดยเฉพาะถ้ากินของทอดๆ มันๆ หรือของหวานๆ เช่น กะทิ รวมทั้งของเผ็ดร้อน โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจดูคอ ถ้าอักเสบแดง บางรายมีหนอง จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคคออักเสบจากภาวะติดเชื้อ และให้ยาต้านจุลชีพร่วมกับยาแก้อาการอื่นๆ ตามความเหมาะสม ทั้งแนะนำให้ดื่มน้ำอุ่น หรือพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต่อสู้โรคและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ในทัศนะแพทย์แผนจีน จะพบว่า มีผู้ป่วยคออักเสบที่มีพื้นฐานร่างกายขาดธาตุน้ำ (ไตพร่อง) ซึ่งแสดงออกในภาวะปกติเป็นคนที่ร้อนในง่าย (ปากเป็นแผลบ่อย) หรือจะมีเสลดพันคอ คอแห้งง่าย กระหายน้ำ บางครั้งมีอาการท้องผูก หลายวันจะถ่ายหนักสักครั้งหนึ่ง คนพวกนี้มักมีประวัติถ้ากินลำไย ทุเรียน ลิ้นจี่ ถั่วคั่ว ปลาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด หรือยาบำรุงพวกโสม ยาบำรุงที่มีฤทธิ์เป็นหยางจะรู้สึกมีอาการเจ็บคอ คอแห้ง หรือปวดศีรษะ ความดันเลือดสูง
อาการเจ็บคอดังกล่าววิเคราะห์ได้ว่า อาหารหยางที่กินเข้าไปรวมทั้งพฤติกรรมที่เป็นหยาง เช่น นอนดึก เครียด ท้องผูก ดื่มกาแฟ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินของรสเผ็ดร้อน ล้วนเป็นเงื่อนไขให้ธาตุไฟของปอด (ระบบทางเดินหายใจ) เพิ่มมากขึ้น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคทั้งจากภายนอกและเชื้อที่อยู่ในช่องปากในยามปกติของร่างกายทำให้ก่อโรคขึ้นได้
สำหรับผู้ป่วยประเภทนี้เพียงการรักษาด้วยยาต้านเชื้อจุลชีพ (Antibiotic) จึงเป็นเพียงปลายเหตุเพราะถ้าหากดูแลและป้องกันโดยการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับหลักสมดุล โดยการกินอาหารที่มีรสยิน (เช่น แตงโม แอปเปิ้ล ฝรั่ง ชมพู่ สาลี่ ฯลฯ) ของขม พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก อย่าให้ท้องผูก กินผักมากๆ งดของทอดๆ มันๆ หรือหวานจัด ควบคุมอารมณ์ ดื่มน้ำมากๆ ก็จะป้องกันโรคเจ็บคอได้ รวมทั้งยังป้องกันโรคอื่นๆ ที่เกิดจากภาวะเสียดุลของธาตุในตัวอีกด้วย
สำหรับคนประเภทร้อนในง่ายและเจ็บคอ มีจำนวนมากรายที่เกิดจากจุลชีพพวกแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในคอหรือช่องปากในยามปกติ ยาต้านจุลชีพที่มักจะได้ผลดีได้แก่พวกอีริโทมัยซิน (Erythromycin) บางรายที่มีอาการร้อนในบ่อยๆ และมีผลกระทบกระเทือนต่อระบบอื่นๆ เช่น ท้องผูกง่าย ความดันสูง หงุดหงิดง่าย ตับอักเสบ เป็นฝีตามผิวหนัง นอนไม่หลับ ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาสมุนไพรเพื่อเพิ่มธาตุน้ำ ลดไฟในอวัยวะต่างๆ ลง จึงจะสามารถป้องกันการพัฒนาของโรคได้
- อ่าน 216,937 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้