• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การบริจาคเลือด

การบริจาคเลือด

 
ผู้ถาม พัชรี/กรุงเทพฯ

ดิฉันอยากทราบว่า การมีน้ำหนักตามเกณฑ์ก่อนบริจาคเลือด ถ้าบริจาคเลือดแล้วร่างกายจะรับไหวไหม และร่างกายจะผลิตเลือดมาทดแทนเหมือนเดิมไหม และจะมีผลกระทบต่อร่างกายหรือไหม

เมื่อวันก่อนเพื่อนมาชวนดิฉันไปบริจาคเลือด แต่ดิฉันไม่กล้าไปเพราะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของการบริจาคเลือดอยู่ คือ

๑. ดิฉันอายุ ๒๕ ปี น้ำหนัก ๔๕ กิโลกรัม (ตามเกณฑ์ของผู้บริจาคเลือดพอดี) ถ้าไปบริจาคเลือด แล้วร่างกายจะรับไหวไหม หมายถึงว่า จะอ่อนเพลียหรือหมดแรง จนถึงขั้นเป็นลมเลยหรือเปล่า

๒. ใช้เวลานานแค่ไหนที่ร่างกายจะผลิตเลือดใหม่ออกมาทดแทนให้เหมือนเดิม

๓. บริจาคเลือดแล้วจะอ้วนจริงไหมคะ

๔. ในการบริจาคเลือดแต่ละครั้งต้องให้เลือดเยอะแค่ไหน และจะมีผลกระทบต่อร่างกายของเราหรือไม่

รบกวนคุณหมอช่วยตอบด้วยค่ะ จะได้นำไปเป็นข้อตัดสินใจว่าจะไปบริจาคดีไหม


ผู้ตอบ พ.ญ.รัชนี โอเจริญ

๑. ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและไม่ซีด คนๆนั้นถ้าเสียเลือด (อาจโดยอุบัติเหตุ หรือบางสภาวะ เช่น เลือดออกเวลาแปรงฟัน) ไม่เกินร้อยละ ๑๒ ของเลือดที่มีอยู่ในตัว ร่างกายสามารถปรับตัวได้ และไม่เกิดผลเสียต่อผู้นั้น ดังนั้นเราจึงบริจาคเลือดได้ในปริมาณไม่เกินร้อยละ ๑๒ ของจำนวนเลือดที่คนๆ นั้นมีอยู่

เราอาจคิดง่ายๆ ว่าเรามีเลือดทั้งหมดในตัวเท่าไร โดยประมาณเราจะมีเลือด ๘๐ มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ดังนั้นน้ำหนัก ๔๕ กิโลกรัมจะมีเลือดอยู่ประมาณ ๘๐ ๔๕ = ๓,๖๐๐ มิลลิลิตร ซึ่งกรณีที่ผู้บริจาคน้ำหนักระหว่าง ๔๕-๕๐ กิโลกรัม เราจะรับบริจาค ๓๕๐ มิลลิลิตร ซึ่งไม่เกินร้อยละ ๑๒ ของปริมาณเลือดทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่ควรเกิดผลเสียใดๆ ต่อผู้บริจาค อย่างไรก็ตาม ก่อนบริจาคจะมีขั้นตอนการตรวจต่างๆ เพื่อดูว่าผู้บริจาคแข็งแรงดี และไม่ซีด ถ้าผู้บริจาคไม่แข็งแรง อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือซีด หลังจากบริจาคอาจมีอาการเป็นลมได้เช่นกัน

๒. ร่างกายจะผลิตเลือดใหม่ออกมาทดแทนได้เร็วแค่ไหนขึ้นกับว่าผู้นั้นได้ธาตุเหล็กเข้าไปทดแทนธาตุเหล็กที่เสียไปได้มากและเร็วแค่ไหน ถ้าผู้บริจาคกินธาตุเหล็กในปริมาณมากๆ ร่างกายจะผลิตเลือดใหม่ได้ใน ๕-๗ วัน ถ้าได้ธาตุเหล็กจากอาหารปกติ ร่างกายจะค่อยๆ สร้าง อาจใช้เวลาถึง ๘ สัปดาห์เป็นอย่างเร็ว โดยปกติเราจะให้เวลาถึง ๑๒ สัปดาห์ หรือให้บริจาคทุก ๓ เดือน

๓. ผู้บริจาคหลายคนเกรงว่าบริจาคแล้วจะอ้วน ซึ่งไม่จริงเลย เพราะเราจะผอมหรืออ้วน ขึ้นอยู่กับอาหารที่กิน ขึ้นกับปริมาณของแคลอรีที่ได้รับจากอาหารเทียบกับแคลอรีที่จะใช้ไป ถ้าใช้แคลอรีน้อยกว่าที่ได้รับ เช่น ไม่ได้ออกกำลังกาย ร่างกายจะอ้วนขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากบริจาคเลือด เราควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง จะได้ช่วยให้ร่างกายสร้างเลือดขึ้นมาทดแทนได้เร็ว ผู้บริจาคบางรายจึงเกิดความคิดว่าควรกินอาหารมากๆ เพื่อบำรุงร่างกายกลังบริจาคเลือด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ผู้บริจาคอ้วนได้

๔. ผู้บริจาคที่มีน้ำหนักระหว่าง ๔๕-๕๐ กิโลกรัม บริจาค ๓๕๐ มิลลิลิตร ผู้บริจาคน้ำหนักมากกว่า ๕๐ กิโลกรัม บริจาค ๔๕๐ มิลลิลิตร ตามเหตุผลที่ได้กล่าวไว้ในข้อ ๑.