• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้อากาศ

เป็นโรคแพ้อากาศมา ๔๐ ปี ไม่ทราบว่านานจนาดนี้จะมีวิธีรักษาให้หายขาดหรือไม่
ผู้ถาม
ศุภมิตร/น่าน
ผู้ตอบ นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล

ถาม
ผมอายุ ๖๕ ปี ผมออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่งเบาๆ ปั่นจักรยานวันละ ๓๐ นาที ทุกวัน สภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่มีปัญหาที่จะเรียนปรึกษาคุณหมอคือ ผมเป็นโรคแพ้อากาศตั้งแต่ตอนายุ ๒๓ ปี ครั้วแรกที่เป็นก็เหมือนเป็นหวัดธรรมดา คัดจมูก หายใจไม่สะดวก มีน้ำมูกหรือบางครั้งก็ข้นนิดๆเท่านั้น จะเป็นไม่เลือกเวลาเช้า กลางวัน เย็น กลางคืน ตี ๑ ตี ๒ บางครั้งก็นานเป็น ๕-๖ ชั่วโมง บางครั้งครึ่งวัน บางครั้งเป็นพักเดียวก็หาย ตอนใกล้หายจะมีอาการง่วงนิดหน่อยแล้วก็หาย น้ำมูกที่ออกมาเป็นน้ำใสๆ ทุกวันนี้รักษาด้วยยาจากโรงพยาบาล มันก็เพียงบรรเทาเท่านั้น ไม่หายขาด ไม่เคยปวดหัว ไม่เคยเจ็บที่ดั้งจมูก ไม่ทราบว่ามีวิธีการรักษาแบบแพทย์แผนจีนให้หายขาดหรือไม่
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ

ตอบ อาการที่เล่ามาเป็นโรคแพ้อากาศ ยาทางแพทย์ปัจจุบันส่วนมากที่ได้รับเข้าใจว่า เป็นยาแก้แพ้ บรรเทาอาการเท่านั้น ในเรื่องแพ้อากาศแพทย์แผนจีนมองว่า นอกจากสาเหตุจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเย็น ลม ความชื้น ฯลฯ แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากความเสียสมดุลของอวัยวะภายใน คือ ปอด ม้าม และไต โดยทั่วไปจะพบว่า ปอดและไตพร่อง ในเด็กมักจะพบมีเรื่องม้ามพร่องร่วมด้วย
พลังปอดพร่อง จะแสดงอาการออกมาเมื่อกระทบความเย็น จะมีอาการแพ้อากาศง่าย ร่วมกับมีอาการเหงื่ออกเอง หายใจไม่ลึก บางครัั้งมีอาการไอบ่อย มีเสมหะเหลวสีขาว สีของลิ้นค่อนข้างขาวหรือชมพูอ่อน ชีพจรเล็ก (ต้องกดลึกๆจึงจะสัมผัสได้)
ไตพร่อง จะแสดงอาการออกมาให้เห็นคือ ปวดเมื่อยเอว หัวเข่า ขาเย็น กลางคืนปัสสาวะบ่อย
ม้ามพร่อง จะแสดงอาการออกมาให้เห็นคือ กินอาหารแล้วไม่ค่อยย่อย เบื่ออาหาร ท้องเสียง่าย อืดอาด รู้สึกไม่คล่องตัว (คล้ายคนขี้เกียจ)
อธิบายการเกิดโรคแบบจีนได้ว่า จมูกเป็นทวารเปิดของปอด ถ้าพลังปอดพร่อง พลังที่ปกป้องจมูกก็อ่อนแอ เมื่อกระทบความเย็น ลมพลังปอดไม่อาจกระจายปัจจัยก่อโรคได้ ทำให้การไหลเวียนติดขัด เยื่อโพรงจมูกบวม แน่นจมูก มีน้ำมูกไหล เนื่องจากขนและผิวหนังเป็นประสาทรับความรู้สึกของปอด เมื่ออากาศเย็นหรือเวลาตื่นนนอนตอนเช้า คนที่มีพลังปอดพร่องจึงมักมีอาการแพ้อากาศง่าย
ส่วนม้ามนั้นเป็นตัวลำเลียงสารจำเป็น (อาหารที่ผ่านการย่อยของกระเพาะอาหาร) ไปยังปอด เมื่อม้ามพร่อง การลำเลียงก็ติดขัด ทำให้มีการคั่งค้างของน้ำ โดยเฉพาะที่เยื่อจมูก (ควบคุมโดยปอด)
ภาวะของไตพร่อง เนื่องจากไตหยางเป็นส่วนที่ให้ระบบความร้อนแก่ร่างกายทั้งหมด ถ้าหยางพร่องจะทำให้ส่วนต่างๆขาดพลังปกป้อง แสดงออกที่จมูกคือ ภาวะแพ้อากาศ จาม น้ำมูกไหล แน่นจมูก

การดูแลรักษา
๑.ห้ามของเย็น เช่น น้ำแข็ง น้ำแช่เย็น แตงโม น้ำชา
-หลีกเลี่ยงอากาศเย็น ควรให้ร่างกายอบอุ่น ไม่ควรกระทบลมหรือความเย็น สวมเสื้อผ้าให้หนาพอ ห้ามอาบน้ำตอนดึก
ดื่มน้ำอุ่น กินอาหารที่ยังร้อน เสริมพวกอาหารประเภทหยาง เช่น พริก ขิง หัวหอม ข่า
๒.หลักการรักษาโรคให้หายขาดนอกจากหลีกเลี่ยงอาหารและสิ่งแวดล้อมที่เย็นแล้ว ต้องเสริมระบบปอด ม้าม และไต ตามแต่อาการของแต่ละคน (แก้ที่สมดุลภายในร่างกาย)
บำรุงพลังปอดเสริมการพยุงรั้ง : ทำให้น้ำมูกไม่ไหล ร่างกายสามารถขจัดปัจจัยก่อโรค เช่น ลมและความเย็นได้
การฝังเข็มเพื่อเพิ่มพลังปอดและขจัดลม ความเย็น สามารถทำได้ร่วมกับกินยาตำรับ ปู่ เฟ่ย ทัง จะให้ผลดี
ถ้าพลังม้ามพร่อง ต้องเพิ่มบำรุงม้าม เช่น ยาตำรับ เซิน-หลิง ไป่ ซุ ทัง
ถ้าพลังไตพร่อง ต้องเสริมกลุุ่มยาบำรุงไตหยาง เช่น เสิ่น ชี่ หวาน
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ยาเหล่านี้สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ปรับสมดุล ฮอร์โมน ระบบประสาทอัตโนมัติ
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้อากาศ ๔๙๕ ราย มีการไหลเวียนของเลือดของบริเวณเยื่อบุจมูกดีขึ้น การหลุดลอกเซลล์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด(บ่งบอกว่าภูมิต้านทานดีขึ้น เซลล์เยื่อจมูกแข็งแรง เสื่อมน้อยลง)