สมพร / กรุงเทพ ฯ : ผู้ถาม
ดิฉันมีความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องยาจีนในการรักษาโรค และมีปัญหาต่าง ๆ ที่จะเรียนถามคุณหมอดังนี้คะ
๑. ดิฉันแต่งงานมา ๖ ปี เคยตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือนกว่า และเกิดการแท้งขึ้น ตอนนี้ประจำเดือนเลยมาไม่ปกติ มาแบบกะปริด-กะปรอย และมดลูกหย่อน จึงขอคำแนะนำในการดูแลตนเองและชื่อยาจีนในการรักษาอาการข้างต้นนี้คะ
๒. ดิฉันอ่านที่คุณหมอเขียนในหมอชาวบ้านก็พบว่าตัวเอง ไต หยาง จึงทำให้เอวและเข่าปวดเมื่อยแขนขาเย็นเหมือนเป็นเหน็บชา
๓. คุณพ่อของดิฉันอายุ ๕๗ ปี กินอาหารแล้วไม่ค่อยย่อย มีอาการปวดต้องกินยาแผนปัจจุบันช่วยทุกครั้งไป แต่ก็กลัวจะมีผลข้างคียง อยากทราบว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
๔. พี่สาวของดิฉันเป็นโรคเกี่ยวกับหู จะมีเสียงดังในหูตลอดเวลา
จากปัญหาที่ถามมา ขอทราบวิธีการรักษาและตัวยาจีนที่ใช้ในการรักษาให้เหมาะสมกับโรค กรุณาช่วยตอบด้วยคะ
นพ. ภาสกิจ วัณนาวิบูล : ผู้ตอบ
๑. ปัญหาการตั้งครรภ์ แล้งแท้ง กับปัญหาไตหยางพร่อง
ภาวะแท้งบุตรมีหลายสาเหตูนอกจากสาเหตูจากภายนอกแล้วสาเหตุสำคัญมักเกิดจากเหตุภายในร่างกาย โดยเฉพาะคนที่แท้งบุตรหลาย ๆ ครั้ง
วิธืป้องกันแก้ไขให้เกิดสมดุลดีกว่าไปดูแลรักษาตอนตั้งครรภ์แล้ว ทางแพทย์จีนพบว่ามักมีสาเหตุใหญ่ๆ ๔ ประการด้วยกันคือ
* ภาวะไตหยางพร่อง
* ภาวะเลือดและพลังพร่อง
* ภาวะเลือดร้อนรบกวนครรภ์
*ภาวะเลือดอุดกั้น
คนที่มีภาวะไตหยางพร่องมักมีพื้นฐานร่างกาย ปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อน ปวดท้องแบบหน่วง ๆ บางครั้งมีเวียนศีรษะ หูมีเสียงดัง ปัสสาวะบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลากลางคืน ขอบตาหมองคล้ำ ใบหน้ามีฝ้า ผิวหนังดำคล้ำ ริมฝีปากคล้ำ ลิ้นซีดบวม หรือซีดปนคล้ำ ฝ้าบนลิ้นขาว ชีพจรลึกลื่นเล็ก ไม่มีแรง ดังนั้นเวลาตั้งครรภ์ ทำให้มดลูกเย็น ความร้อนและการไหลเวียนเลือดและพลังไปยังมดลูกไม่พอ ทำให้อาหารเลี้ยงทารกในครรภ์อ่อนน้อย แท้งบุตรได้ง่าย หลักการรักษา บำรุงไต บำรุงม้าม บำรุงเลือด พยุงครรภ์ ตำหรับยาที่ใช้คือ ( โซ่ว ทาย หวาน ) ยาตำหรับนี้นอกจากบำรุงหยาง พยุงครรภ์ ช่วยทำให้มดลูกไม่หย่อน ( มดลูกหย่อนเกิดจากพลังพยุงรั้งขึ้นบนอ่อนแรง )
๒.คุณพ่ออายุ ๕๗ ปี กินอาหารแล้วไม่ค่อยย่อย ต้องดูตั้งแต่เรื่องฟันว่าสามารถเคี้ยวอาหารได้ดีไหม อาหารที่กินไม่ควรย่อยยาก เช่น พวกเนื้อสัตว์ หรือคุณสมบัติไม่เย็นเกินไป เช่น ผักดิบ แตงโม ของที่มีรสเปรี้ยว รวมถึงของแช่เย็น น้ำแข็ง ถ้าหากพื้นฐานร่างกายมีระบบการย่อยไม่ดี เช่น พลังความร้อนของกระเพาะ ม้ามไม่พอ หรืออาหารตกค้าง การย่อยอาหารเสื่อมหน้าที่ ต้องให้ยาสมุนไพรเกี่ยวข้องกับให้ความร้อนบำรุงพลังหยางของม้าม และยาช่วยย่อยร่วมตำหรับยาที่ใช้คือ ( หวง ฉี เจี้ยน จง ทาง ) กับ ( เปา เหอ หวาน ) ถ้ามีอาการที่ไม่เข้ากับที่กล่าวมา ควรดูสาเหตุของร่างกายที่อาจเป็นภาวะที่ร้อน หรืออุดกั้นทางอารมณ์ หรือหยินพร่องหรือเปล่า
๓. ปัญหาเสียงดังในหู tinnitus ในรายที่เรื้อรังมักเกี่ยวข้อง กับการเสียสมดุลภายใน เช่น ยินของตับ ไตพร่อง พลังของกระเพาะอาหารม้ามพร่อง ตับร้อน ( มักเกิดจากอารมณ์อุดกั้นเรื้อรัง ) หรือจากความร้อนชื้นในระบบกระเพาะอาหาร เนื่องจากกินอาหารเผ็ดร้อน เหล้า เป็นเวลานาน ทำให้เกิดเสมหะไฟไปอุดกั้นที่ช่องทวารหู การรักษาด้วยยาตำหรับไหน คงต้องทราบรายละเอียดมากกว่านี้ จึงจะให้การแนะนำได้
สรุปแล้วในรายเรื้อรังมักเกิดจากความเสื่อมสะสม ความเสียสมดุลอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ
- อ่าน 6,583 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้