• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สายตาสั้นจริงไหม

สายตาสั้นจริงไหม


ผู้ถาม พัชรี/กรุงเทพฯ

ดิฉันทำงานเกี่ยวกับการอ่านหนังสือมาประมาณ ๒ ปีแล้ว ได้ไปวัดสายตากับร้านแว่นร้านหนึ่ง วัดด้วยคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ได้อ่านผลการวัดสายตาออกมาว่า ข้างขวาสั้น ๕๐ ข้างซ้ายสั้น ๑๐๐ ไม่ทราบว่าจะสายตาสั้นจริงไหม และจะรักษาอย่างไร โดยไม่ต้องใส่แว่น

ดิฉันอายุ ๒๙ ปี ทำงานเกี่ยวกับการอ่านหนังสือมาประมาณ ๒ ปีแล้ว ดิฉันมีสายตาเป็นปกติมาตลอด แต่สังเกตว่าในช่วงนี้สายตาของดิฉันจะมีปัญหาคือเวลาที่มองตัวเลขไกลๆ เช่น ป้ายรถประจำทาง จะมองไม่เห็นไม่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน แม้กระทั่งป้ายที่มีตัวเลขบนบอร์ดไฟ ก็จะมองเห็นเลือนๆ ไม่คมชัดเหมือนแต่ก่อน

วันก่อนดิฉันวัดสายตากับร้านแว่นร้านหนึ่ง (วัดโดยคอมพิวเตอร์) โดยแค่เอาใบหน้าไปวางใกล้ ๆเครื่องวัดสายตา หลังวัดสายตาทีละข้าง (ไม่เหมือนกับการวัดโดยมีคนคอยถามตัวเลข) เจ้าหน้าที่ได้อ่านผลการวัดสายตาของดิฉันออกมาว่า ข้างขวาสั้น ๕๐ ข้างซ้ายสั้น ๑๐๐ (ได้ส่งตัวอย่างมาด้วย) แล้วเขาก็ได้แนะนำให้ดิฉันตัดแว่นแต่ดิฉันผัดไว้วันหลัง ดิฉันจึงขอเรียนถามคุณหมอดังนี้ค่ะ

๑. เป็นไปได้ไหมว่าเจ้าหน้าที่ เขาต้องการจะขายแว่น จึงแกล้งบอกว่าดิฉันสายตาสั้น

๒. ถ้าสั้นจริง แล้วดิฉันไม่ใส่แว่นหรือใส่ๆ ถอดๆ จะเป็นอะไรไหม สายตาจะสั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหรือไม่

๓. มีวิธีรักษาอย่างอื่น โดยไม่ต้องใส่แว่นหรือไม่

 

ผู้ตอบ พ.ญ.สการัตน์ คุณาวิศรุต

ในการตรวจวัดว่าเรามีสายตาสั้น หรือเอียง หรือยาวเท่าไรนั้น แต่เดิมทีต้องอาศัยเจ้าตัวเป็นผู้บอก โดยการให้มองตัวเลขที่มีขนาด และอยู่ในระยะที่เป็นมาตรฐาน ถ้ามองไม่เห็น ผู้ตรวจก็จะทดลองเอาเลนส์ต่างๆ อาจเป็นเลนส์นูน (สายตายาว) เลนส์เว้า (สายตาสั้น) หรือเลนส์ทรงกระบอก (สายตาเอียง) ถ้าได้เบอร์เลนส์ ชนิด และขนาดใด ก็บ่งว่าผู้นั้นสายตาสั้น ยาว หรือ เอียงเท่านั้น

ต่อมามีการวัดโดยใช้เครื่องมือ ส่องเข้าไปในตาตรวจดูภาพที่เกิดที่จอตา หรือทิศทางของแสงจากวัตถุที่มองไปยังลูกตา จะทำให้ผู้ตรวจทราบได้ว่าผู้ถูกตรวจมีสายตาเป็นเท่าไร หลักการอันนี้อาศัยผู้ตรวจตัดสินใจร่วมกับการใช้เครื่องมือ โดยผู้ถูกตรวจไม่ต้องให้ความเห็นอะไร วิธีนี้ผู้ตรวจต้องมีความชำนาญพอถึงจะวัดได้แม่นยำ เหมาะกับการตรวจวัดสายตาในเด็ก หรือผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ

ล่าสุดมีวิธีวัดสายตาที่เป็นแบบอัตโนมัติ โดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เป็นการใช้เครื่องมือบอกเรา และให้พิมพ์ออกมาเลยว่าผู้ถูกตรวจสายตาเป็นอย่างไร วิธีนี้เป็นการตรวจภาพที่เกิดที่จอตา หรือทิศทางของแสงจากวัตถุเข้าจอตา ถ้าไม่ชัดเจนก็ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยว่าต้องใช้เลนส์อะไรถึงจะชัดเจน ก็จะออกมาเป็นตัวเลขว่าสายตาสั้นเท่าไร เครื่องล่าสุดที่ว่านี้จึงถูกเรียกกันว่าวัดสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้ดูหรูหราโอ่อ่าดี อีกทั้งเป็นจุดขายของร้านแว่นทั่วๆไปที่ว่ามีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยในการวัด

อย่างไรก็ตามเครื่องวัดสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นี้มีราคาค่อนข้างแพง ในปัจจุบันมีที่ใช้ในร้านแว่น และคลินิกรักษาตาบางแห่ง เนื่องจากวัดได้ในเวลารวดเร็ว สำหรับความแม่นยำอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อวัดออกมาด้วยเครื่องว่าเป็นตัวเลขเท่าไรแล้วต้องมาตัดสินอีกทีว่าถูกต้องแม่นยำมีความจำเป็นต้องใช้แว่นหรือไม่อีกที

ขอตอบคำถามคุณดังนี้

๑. ตามกระดาษที่คุณแนบมา ในการวัดบ่งบอกว่าตาขวาคุณสั้น ๗๕ และตาซ้ายสั้น ๑๐๐ จริงหมายความว่าเครื่องบอกว่าสั้นจริง ถ้าจะต้องถึงขั้นทำแว่น จะต้องมาลองเลนส์และให้อ่านตัวเลขดูว่าสายตาดีขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าดีขึ้นใส่แล้วไม่มึนงง เจ้าตัวอยากใส่หรืออยากมองไกลให้เห็นชัดขึ้นก็ทำแว่นใช้

โดยสรุป ก็คือ ถ้าวัดด้วยคอมพิวเตอร์สั้นแล้วต้องมาลองใช้แว่นขนาดต่างๆอีกที อย่าได้นำตัวเลขจากเครื่องวัดด้วยคอมพิวเตอร์ไปตัดเลย เพราะเครื่องอาจมีผิดพลาด ไม่แม่นยำ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการผิดพลาดได้หลายอย่าง เช่น ขณะวัด ผู้ถูกวัดจ้องภาพในเครื่องมากเกินไป ขนาดรูม่านตาต่าง ๆกันอาจให้ความแม่นยำไม่เท่ากัน เครื่องวัดด้วยคอมพิวเตอร์มีประโยชน์บอกเราคร่าวๆว่า เราน่าจะมีสายตาสั้นเท่าไร ถ้าถึงขั้นจะตัดแว่นต้องวัดอีกที

๒. จากการวัดด้วยคอมพิวเตอร์ว่าสั้น ๗๕ และ ๑๐๐ ก็ควรไปลองเลนส์อีกที ถ้าตรงกันก็อาจสรุปได้แน่นอนว่าสั้นจริง และถ้าสั้นจริง ขนาดดังกล่าวข้างต้นก็ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวว่ามีปัญหาในการใช้สายตามากน้อยแค่ไหน ถ้าคุณทำงานเกี่ยวกับหนังสือ ซึ่งเป็นระยะใกล้ และไม่มีปัญหาในการมองไกลมากนักไม่ใส่แว่นก็ได้ แต่ถ้าคุณต้องการมองไกลๆให้ชัดขึ้น เช่น ต้องขับรถมองไกลด้วย ก็อาจจะทำแว่นสำหรับมองไกล ในกรณีของคุณอายุ ๒๙ ปี สั้น ๗๕ และ ๑๐๐ จะใส่แว่นบ้าง ใส่ๆ ถอดๆ หรือไม่ใส่ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่มีผลทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร

๓. สายตาสั้น แก้ไขได้หลายวิธี ได้แก่ ใช่แว่นตา เลนส์สัมผัส ตลอดจนการผ่าตัดด้วยมีด และแสงเลเซอร์ แต่ละวิธีก็เหมาะสมกับผู้ป่วยต่างๆกันไป ในกรณีของคุณใช้แว่นตาคงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด