• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มึนศีรษะมากหลังจากเข้าบ้านที่ฉีดยาฆ่าปลวก

- ปวีณา/กรุงเทพฯ : ผู้ถาม
ดิฉันและสามีเข้าไปจัดบ้านใหม่ ซึ่งมีการฉีดยาฆ่าปลวกผ่านพ้นไปได้ ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากกลับบ้านหลังเก่า วันรุ่งขึ้นมีอาการปวดศีรษะมาก และปวดในช่องท้องบริเวณ กระเพาะและลำไส้ มีอาการตัวร้อนจัด ตาแดงเหมือนเป็นไข้หวัด แต่ต่อมาอาการได้ทุเลาไป ต่อมา 2 ถึง 3 วัน เราทั้ง 2 คน พยายามดื่มน้ำมากๆ จึงไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะยาฆ่าปลวกที่ฉีดแบบเจาะปูน แล้วอัดน้ำยาลงไปทั่วทั้งบ้านหรือเปล่า
จึงเรียนถามคุณหมอดังนี้
1. อาการของผู้ที่แพ้ยาฆ่าปลวกเป็นอย่างไร
2. มีวิธีรักษาหรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้อย่างไร
3. สำหรับหญิงมีครรภ์ และทารกที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีการฉีดยาฆ่าปลวก (3 เดือน) จะมีอาการแสดงออกระยะสั้นอย่างไร และมีผลต่ออวัยวะต่างๆ ในอนาคตอย่างไร
4. ยาฆ่าปลวกที่บริษัทกำจัด ปลวกใช้ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีประเภทใด และมีฤทธิ์ร้ายแรงมากน้อยเพียงใด
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ

- นพ.สมิง เก่าเจริญ : ผู้ตอบ
ในปัจจุบันสารเคมีกำจัดปลวก ที่ใช้ในประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ซึ่งอาการพิษที่เกิดขึ้น ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำตาน้ำลายไหล เหงื่อออก ท้องเดิน ม่านตาหดตัว เสมหะมากหลอดลมหดเกร็ง ในรายที่รุนแรงจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ อัมพาต ของกล้ามเนื้อหายใจ ชัก และหมดสติ
2. กลุ่มออร์กาโนคลอรีน มักทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย วิงเวียน เดินเซ สับสน ในรายที่รุนแรงจะเกิดภาวะชัก และหยุดหายใจ
3. กลุ่มพัยรีทอยด์ เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสารเคมีจากพืช อาการทั่วไปจะทำให้เกิดเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย บางรายจะมีอาการเหมือนภูมิแพ้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการอักเสบ ของระบบทางเดินหายใจ ในรายที่รุนแรงจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก และชักได้

ขอตอบปัญหาดังต่อไปนี้
1. ในกรณีของการสูดดมและสัมผัสทางผิวหนัง ความรุนแรงของการเกิดภาวะพิษจากสารเคมีกำจัดปลวก ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการสัมผัสสาร และความเข้มข้นที่ได้รับ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิไวรับ (hyper-sensitivity) ส่วนอาการทางผิวหนัง อาจมีผื่นแพ้ มีผิวหนังอักเสบ บวมแดงได้
2. วิธีการรักษา
- ในกรณีของการสูดดม : ให้นำผู้ป่วยออกจากบริเวณนั้นไปในที่มีอากาศบริสุทธิ์ สังเกตการหายใจ ถ้ามีอาการหายใจลำบาก ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
- ในกรณีที่สัมผัสทางผิวหนัง : ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ถ้ามีผื่นแพ้ บวมแดง ให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ได้
- ในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง ที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ช็อกหรือหมดสติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาตามอาการที่ถูกต้อง เหมาะสมต่อไป
3. สำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก คงต้องระมัดระวังอันตรายมากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ วิธีปฏิบัติคือ หลังการฉีดสารเคมีกำจัดปลวก ควรเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทไหลเวียนได้ดี ทำความสะอาดบริเวณที่อาจมีสารเคมีตกค้าง ตรวจดูอาหาร น้ำดื่ม ว่ามีการปนเปื้อนจากสารเคมีหรือไม่ สำหรับผลต่ออวัยวะต่างๆ ในระยะยาวยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน
4. ได้อธิบายเรื่องสารเคมีกำจัด ปลวกไว้ในตอนต้นแล้ว