• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจโต

- บุญแสน/นครปฐม : ผู้ถาม
ผมมีปัญหาขอเรียนถามคุณหมอถึงสาเหตุของโรค “หัวใจโต” ครับ
1. หัวใจโตเกิดจากสาเหตุอะไร
2. จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจ โตได้อย่างไร
3. เมื่อเกิดเป็นโรคหัวใจโตแล้ว จะมีวิธีปฏิบัติตนอย่างไร
4. การรักษาโรคหัวใจโต รักษาได้อย่างไร
5. คนที่เป็นโรคหัวใจโตจะมีอาการอย่างไรบ้าง
6. โรคหัวใจโตรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยชี้แนะด้วยนะครับ

- นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ : ผู้ตอบ
หัวใจโตเป็นภาวะที่ห้องหัวใจ 4 ห้อง (ห้องบนซ้าย ห้องล่างซ้ายห้องบนขวา และห้องล่างขวา) ห้องใดห้องหนึ่ง หรือหลายห้องมีขนาดโตขึ้นกว่าปกติ ส่วนใหญ่แพทย์จะหมายถึงหัวใจห้องล่างซ้าย และ/หรือล่างขวาโต

การตรวจร่างกายมักจะบอกได้ว่าหัวใจห้องล่างซ้ายหรือห้องล่างขวา หรือทั้ง 2 ห้องโต สำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography หรือECG) มักบอกได้ว่าหัวใจ 4 ห้องห้องใดโตบ้าง นอกจากนี้ ยังบอกได้ว่าผนังหัวใจห้องล่างซ้ายและขวาหนากว่าปกติหรือไม่ การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (chest x-ray) สามารถบอกได้ว่าหัวใจ 4 ห้อง ห้องใดโตกว่าปกติบ้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าวิธีการถ่ายเอกซเรย์ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ผู้ป่วยหายใจเข้าไม่เต็มที่ กลั้นหายใจไม่ได้ หรือมีภาวะที่ทำให้ช่องทรวงอกเล็กลง เช่น มีน้ำในช่องท้อง ทำให้กะบังลมถูกยกสูงเข้ามาในช่องทรวงอก จะทำให้ผลเอกซเรย์ทรวงอกมีลักษณะเงาหัวใจโต ซึ่งจริงๆแล้วขนาดของหัวใจไม่โตเลย ดังนั้น อาจจะต้องตรวจมากกว่า 1 อย่างข้างต้น เพื่อที่จะบอกว่ามีภาวะหัวใจโตจริง

ผู้ป่วยหลายรายที่ผมเคยตรวจมักจะได้รับการบอกเล่าจากแพทย์ว่าหัวใจโตเล็กน้อย เพราะเอกซเรย์ทรวงอกดูเงาหัวใจโตขึ้นกว่าปกติ แต่เมื่อตรวจร่างกาย คลื่นหัวใจก็มักจะบอกได้ว่าหัวใจไม่ได้โตกว่าปกติเลย หรือถ้ายังสงสัย อาจตรวจวัดขนาดหัวใจโดยตรงด้วยวิธีพิเศษ เช่น การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหัวใจ (echocardiography หรืออัลตราซาวนด์หัวใจ) ว่าหัวใจโตจริง หรือไม่โตมากน้อยเพียงใด ถ้าหัวใจโตจริงควรจะต้องหาสาเหตุ และรีบแก้ไขครับ 

                                          
ขอตอบปัญหาคุณเป็นข้อๆดังนี้ครับ
1. สาเหตุของการเกิดหัวใจโต (หมายถึงหัวใจห้องล่างโต) มีมากมายครับ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรค กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ทำให้หัวใจบีบตัวน้อยลงกว่าปกติ ทำให้เลือดค้างในหัวใจมาก หัวใจจึงค่อยๆโตขึ้น หรือโรคลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้มีเลือดย้อนกลับมาในห้องหัวใจมากขึ้น ทำให้หัวใจขยายขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับสาเหตุในแต่ละบุคคลนั้นหากอยากทราบว่าเกิดจากอะไร คงต้องให้แพทย์ ถามประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเพิ่มเติมครับ
 
2. การป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจโตก็คือ การรักษาบรรเทาต้นเหตุที่ทำให้หัวใจโต เช่น ถ้าลิ้นหัวใจรั่วก็คงต้องกินยาที่ช่วยลดการรั่วของลิ้นหัวใจ และอาจต้องผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจที่รั่ว ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติจากดื่มเหล้ามากเป็นเวลานาน หรือขาดวิตามินบี 1 การหยุดดื่มเหล้าและได้รับวิตามินบี 1 ก็ทำให้หัวใจเล็กลงได้

3. เมื่อเกิดเป็นโรคหัวใจแล้วคงต้องตรวจดูให้รู้แน่ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แล้วจึงบอกได้ว่าควรปฏิบัติ อย่างไรให้เหมาะสมกับโรคนั้น แต่โดยหลักทั่วๆไปในผู้ป่วยโรคหัวใจคือ ให้หัวใจได้พัก ไม่ต้องทำงานหนัก เช่น หลีกเลี่ยงการออกแรงมาก โมโห ฉุนเฉียว หรือดูหนังดูละคร เล่นเกมที่ตื่นเต้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว การทำให้จิตใจสงบ สบาย ปล่อยวางจากกิเลสตัณหา และความเครียดทั้งทางกายและทางจิตใจ โดยการสวดมนต์ ไหว้พระ เจริญสติ สมาธิฟังเทศน์ ฟังธรรม ทำให้หัวใจทำงานเบาลง

การออกกำลังที่เหมาะสมก็ คือการเดิน โดยเฉพาะเดินจงกรม วันละ 45 ถึง 60 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ถึง 4 ครั้ง เรื่องอาหารการกินก็สำคัญควรกินอาหารไทยๆ ที่อุดมไปด้วยพืชผักธัญพืชและไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารจีนที่มีเนื้อสัตว์และไขมันมาก งดเว้นอาหารฝรั่ง ฟาสต์ฟู้ด หรือขนมนมเนยที่หวานมันจัด

4. หัวใจโตไม่ใช่โรคโดยตรงแต่เป็นภาวะที่หัวใจขยายใหญ่ขึ้นจากโรคที่เกิดที่หัวใจ ดังนั้นการรักษาคงต้องรักษาโรคหัวใจที่ทำให้หัวใจโต เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากเหล้า ก็ต้องหยุดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส ยังไม่มียาฆ่าไวรัสโดยตรง ก็ต้องรักษาโดยการพักผ่อน ทั้งกายและจิตใจ กินอาหารให้ถูกต้อง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายกลับมาปกติ สามารถกำจัดการอักเสบจากเชื้อไวรัสได้

5. อาการของภาวะหัวใจโตที่เกิดกับผู้ป่วย อาจเกิดจากสาเหตุของโรคหัวใจที่ทำให้หัวใจโตเอง เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นกลางหน้าอก ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้หัวใจโตขึ้นได้ หรืออาการอาจเกิดจากหัวใจห้องล่างซ้ายโต เพราะบีบตัวน้อยลง เลือดจะคั่งอยู่ในปอด ทำให้เหนื่อยง่าย เพราะปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง เวลากลางคืนอาจต้องนอนยกหัวให้สูง นอนราบไม่ได้ เพราะจะแน่นหน้าอก ต้องลุกมานั่งจะดีขึ้น ถ้ามีหัวใจห้องล่างขวาโตทำให้เลือดคั่งอยู่ในตับและที่เท้า ทำให้แน่นจุกบริเวณลิ้นปี่เพราะตับโต และเท้าบวมได้ หรืออาการหัวใจโตอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ จนเกิดอาการใจสั่น เป็นลมหน้ามืด หมดสติ หรือแม้แต่เสียชีวิตเฉียบพลันได้

6. ภาวะหัวใจโต โดยเฉพาะในระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้ในบางสาเหตุ เช่น หัวใจโตจากการดื่มเหล้ามาก หรือขาดวิตามินบี 1 แต่ในบางสาเหตุ หรือในระยะท้ายของโรคที่หัวใจมีขนาดใหญ่โตมาก อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ลิ้นหัวใจที่รั่วมาก

การรักษาด้วยยา (ยังไม่มียาที่ทำให้ลิ้นหัวใจหายรั่วได้) และการผ่าตัดแก้ไขอาจทำได้ในระยะต้นของภาวะหัวใจโต แต่ถ้าทิ้งไว้นานเกินไปโดยไม่ได้ตรวจรักษาสม่ำเสมอ อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แม้แต่ในการผ่าตัด ในกรณีเช่นนี้อาจจะถึงขั้นต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในรายที่หัวใจโตมาก หรืออาการหัวใจวายมาก

ดังนั้นผู้ป่วยที่หัวใจโต แม้ว่าอาการจะไม่มาก หรือไม่มีอาการ ควรจะต้องได้รับการตรวจดูแลรักษาและติดตามเป็นระยะสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าหัวใจโตมากขึ้นหรือไม่ ถึงเวลาจะต้องผ่าตัดหรือยัง เพราะถ้าทิ้งไว้จนหัวใจโตมากเกินไป การผ่าตัดในช่วงนั้นจะไม่ช่วยให้ดีขึ้น