มณีรัตน์/กรุงเทพฯ : ผู้ถาม
เมื่อเดือนที่แล้วดิฉันและสามีได้ ไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าสามีได้ตรวจไวรัสบี ปรากฏผลเป็นดังนี้ค่ะ
1. HBs Ag (ELISA/PHA)..........Negative
2. Anti-HBs (ELISA/PHA)..........Negative
3. Anti-HBc (ELISA/PHA)..........Positive
ไม่มีใครให้ความกระจ่างว่าค่า ข้างต้นหมายความว่าอย่างไร สามีดิฉันจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันอีก ไหม บางคนก็บอกควรฉีด บางคนก็ บอกว่าไม่จำเป็นเพราะมีภูมิอยู่แล้ว
สำหรับตนเอง ดิฉันทราบว่าตัวเองเป็นพาหะตอนตรวจเลือดคลอดบุตรเมื่อปี พ.ศ. 2538 คนเป็นพาหะ จำเป็นต้องตรวจเลือดทุก 6 เดือนไหมคะ เพราะดิฉันตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้งค่ะ
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ : ผู้ตอบ
ก่อนอื่นต้องขออธิบายศัพท์ที่ใช้อยู่ 3 คำ คือ
1. HBs Ag ย่อมาจากคำว่าHepatitis B surface antigen หมายถึง แอนติเจน (สารประกอบของเชื้อโรค) ที่พบบนผิวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
2. Anti-HBs ย่อมาจากคำว่า Anti-Hepatitis B surface หมายถึง แอนติบอดี (ภูมิคุ้มกัน) ต่อแอนติ เจนที่อยู่บนผิวของเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบี
3. Anti-HBc ย่อมาจากคำว่า Anti-Hepatitis B core หมายถึง แอนติบอดี (ภูมิคุ้มกัน) ต่อแอนติเจนที่อยู่ตรงแกนกลางของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
ผลเลือดของสามีคุณ สำหรับ 2 ตัวแรกคือ HBs Ag และ Anti- HBs พบว่าเป็นผลลบ (negative) หมายความว่า ตรวจไม่พบแอนติเจน คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไม่พบแอนติบอดีต่อแอนติเจนที่อยู่บนผิวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
ส่วนตัวที่ 3 คือ Anti-HBc พบว่าเป็นผลบวก (positive) หมายความว่า ตรวจพบแอนติบอดีต่อแอนติเจนที่อยู่ตรงแกนกลางของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
ทั้งหมดนี้แปลความว่า ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่พบว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้แล้ว โดยพบว่ามีแอนติบอดีชนิด Anti-HBc ซึ่งจะพบหลังจากติดเชื้อ 4 ถึง 6 สัปดาห์ไปแล้ว (ส่วนแอนติบอดีชนิด Anti-HBs จะพบหลังติดเชื้อ 4 ถึง 6 เดือนไปแล้ว)
แสดงว่าเพิ่งเคยติดเชื้อมาไม่นาน และร่างกายสามารถขจัดเชื้อ (จนตรวจไม่พบแล้ว) และเริ่มมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
ผู้ที่เคยเป็นไวรัสบี ถ้าเชื้อถูกขจัดหมดแล้ว ตรวจไม่พบ HBs Ag ก็สามารถบริจาคเลือดได้
ส่วนผู้ที่เป็นพาหะควรตรวจเลือดทุก 3 ถึง 6 เดือน เพื่อดูว่าเชื้อจะถูกขจัดไปได้หรือไม่ (พบว่าผู้ที่เป็นพาหะ 100 คน เชื้อจะถูกขจัดไปโดยธรรมชาติ ประมาณปีละ 1 คน) พร้อมทั้งดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงของตับหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นพาหะห้ามดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะเสริมให้เกิด โรคตับแทรกซ้อนได้มากขึ้น และหมั่นดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง (เช่น กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายแต่พอควร ทำใจให้เบิกบานอย่าเครียด
- อ่าน 104,872 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้