• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มึนหัว เจ็บตา เพราะจอคอมฯไม่ดี

ประวัติ / กรุงเทพฯ : ผู้ถาม
ผมอายุ 27 ปี ก่อนหน้านี้ผมมีร่างกายแข็งแรงดี แต่พอเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมไปฝึกงานและใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ( ใช้โปรแกรม Excal เกี่ยวกับสถิติ ) ทุกวัน ผมฝึกงานอยู่ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ซึ่งจอคอมพิวเตอร์ค่อนข้างเก่า หน้าจอจึงสั่น

ผมมีอาการมึนหัว เจ็บที่ตา และปวดที่กระบอกตา หลังจากเลิกฝึกงาน ผมจึงไปพบหมอ หมอบอกว่าผมเป็นตาล้า คือใช้ตามากเกินไป หมอให้ยามากิน กินยาหมดแล้วแต่ยังไม่หายขาด จึงเปลี่ยนไปหาหมออีกโรงพยาบาลหนึ่ง คุณหมอบอกว่าอาจจะเกิดจากล้า หรือไม่ก็โรคอื่น เช่น โรคความดันเลือดสูง

คุณหมอวันความดันของผมได้ 130 / 80 จึงแนะนำให้ผมไปหาหมอโรคความดัน อีก 1 วันต่อมา ผมจึงไปพบหมอด้านความดัน และวัดความตันของผมได้ 160 / 110
ผมจึงมีปัญหาจะถามคุณหมอดังนี้
1. คุณหมอคิดว่าผมเป็นโรคอะไรครับ
2. โรคความดันเกี่ยวกับอาการเจ็บตาหรือกระบอกตาอย่างไร
3. ความดันของผมที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ และจ้องตัวเลขสถิติทุกวันหรือไม่
4. คุณหมอคิดว่า ตอนนี้ผมเลิกใช้คอมพิวเตอร์ดังกล่าวแล้ว ผมจะหายจากความดันดังกล่าวหรือไม่
5. ผมควรจะรักษาอาการดังกล่าว หรือปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไปครับ

นพ. สุรพงษ์ ดวงรัตน์ : ผู้ตอบ
1. น่าจะเป็นโรค “ ตาเครียด ” หรือ “ ตาล้า ” เช่นเดียวกับที่หมอบอกคุณนั่นแหละ
ตาเครียด หรือตาล้า หมายถึงการใช้ตามองจ้องหรืออ่านหนังสือ ทำงานระยะใกล้ไม่ถึงเกิน 1 ฟุตครึ่งนาน ๆ ทำให้การทำงานของประสาทที่มาบังคับการปรับลูกตาเพื่อการทำงานระยะใกล้ให้ชัดเจนอยู่ตลอดเวลา จะมีการเกร็ง เมื่อยล้า เช่นเดียวกับการออกกำลังกายด้วยดารวิดพื้น เต้นแอร์โรบิกนาน ๆ จะเมื่อยแขน เมื่อยขา และเมื่อยไปทั้งตัว

การทำงานของลูกตาก็มีกระบวนการในการทำงานระยะใกล้คือ การมองเพ่งตัวหนังสือ หรือจอคอมพิวเตอร์ ( ถ้าภาพเต้นยิ่งไปกันใหญ่ ) อยู่ 2 ส่วน คือ
ส่วนที่หนึ่ง การบังคับลูกตาทั้ง 2 ข้าง เข้าด้านในหัวตาเพื่อจ้องไปที่ตัวหนังสือที่อ่าน
ส่วนที่สอง คือการปรับความชัดของภาพด้วยการอาศัยกระบวนการที่ละเอียดอ่อนประดุจการปรับโฟกัสของกล้องถ่ายรูปแบบอัตโนมัตินั่นแหละ เมื่อมีการทำงาน 2 กระบวนการนี้นาน ๆ จะเกิดอาการปวด เมื่อยลูกตา มึนศีรษะ

ถ้าตาผู้นั้นสายตาไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ( คือวัดด้วย snellen char ไม่ได้ตัวเลข 6 / 6 , 6 / 6 ) ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะตาต้องทำงานมากขึ้น เพื่อปรับภาพให้ชัด หรือให้สามารถมองเห็นและอ่านได้ ซึ่งจะทำให้ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะมากขึ้น เพียงช่วงเวลาการสายตาสั้น ๆ นอกจากนั้นอาจมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน จนอยากอาเจียนก็มีได้

2. คุณอายุแค่ 27 ปี ยังหนุ่มแน่นและอ่อนวัย โรคความดันเลือดสูง ( hypertension ) ไม่น่าจะมี นอกจากคุณจะเป็นคนอ้วนมาก ๆ และมีเบาหวานหรือเป็นกรรมพันธุกรรม
โรคความดันเลือดสูงมักไม่ทำให้ปวดลูกตาแต่จะมึนและปวดศีรษะ เมื่อก้านคอบริเวณท้ายทอยมากกว่า
ความดันที่วัดได้ครั้งที่สองได้ 160 / 110 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าสูงพอใช้ น่าจะลองวัดบ่อย ๆ แล้วถามหมอคนที่วัดดูว่าเป็นโรคความดันเลือกสูงจริง ๆ หรือเปล่า

3. อาจจะเป็นได้ เพราะคุณนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง ไม่ค่อยเคลื่อนย้ายตัว การไหลเวียนเลือดอาจไม่เป็นตามธรรมชาติ อีกทั้งความคิด และการใช้สายตาอยู่ในภาวะเครียด

4. น่าจะลองดู ประมาณ 2-3 สัปดาห์ คงจะทราบผล ดูว่าคุณยังปวดมืนศีรษะ เจ็บกระบอกตาอยู่หรือเปล่า แล้วไปออกกำลังกายตอนเย็น ๆ ด้วยการเล่นเทนนิสหรือว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬาอะไรไม่เป็นสักอย่างก็หารองเท้าผ้าใบสวมใส่ แล้ววิ่งจ๊อกกิ้งจนได้เหงื่อ ( ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ) คุณคงจะดีขึ้นมาก ปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่มักจะแนะนำให้มีการออกกำลังกาย เพื่อบรรเทาการเจ็บป่วย

5. เพลา ๆ การใช้ตาจากการจ้องภาพบนจอคอมพิวเตอร์ที่จอภาพเต้นให้น้อยลง พยายามพักสายตา ไปวัดสายตาดูว่าปกติดีหรือเปล่า แล้วปฏิบัติตัวตามข้อ 4 คือออกกำลังกายตอนเย็น ๆ อายุแค่ 27 ปี เป็นวัยฉกรรจ์น่าจะแข็งแรงดี ปัญหาโรคทางกายอย่างอื่นไม่น่าจะมี