• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันค่าล่างสูงอย่างเดียว รักษาอย่างไร

นาย วิศิษฐ์ จันทร์วิเศษ : ผู้ถาม
ผมได้เป็นสมาชิกนิตยสาร “หมอชาวบ้าน” ปีแรก และได้ซื้อหนังสือ ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป ของ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ เมื่ออ่านแล้วผมได้รับความรู้อย่างมากมายคุ้มค่าจริง ๆ ผมได้อ่านเรื่องความดันโลหิตสูง มีบอกไว้ว่าความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ทั้งค่าบนและค่าล่าง บางรายสูงข้างบนอย่างเดียว ( isolated systolic hypertension ) พบในผู้สูงอายุ โรคคอพอกเป็นพิษ ภาวะหลอดเลือดใหญ่แดงตีบ

แต่ผู้ป่วยความดันโลหิตค่าล่างสูงอย่างเดียวผิดปกติ ( diastolic hypertension ) ขอถามว่า
1. มักจะพบกับบุคคลระดับอายุเท่าใด
2. มีสาเหตุ การรักษา และการใช้ยาอย่างไร
3. บางคนบอหกว่าค่าล่างสูงอย่างเดียวอาจมีไขมันในหลอดเลือดจริงหรือไม่
หวังว่าคุณหมอคงจะกรุณาตอบให้เป็นที่เข้าใจด้วย

นพ. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ : ผู้ตอบ
ปกติความดันโลหิตจะมี 2 ค่าคือ ค่าบนกับค่าล่าง ค่าบนหมายถึงค่าความดันที่วัดได้ขณะหัวใจบีบตัว ( ในผู้ใหญ่ค่าปกติจะต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท ) ส่วนค่าล่าง หมายถึงค่าความดันที่วัดได้ขณะหัวใจคลายตัว ( ในผู้ใหญ่ค่าปกติจะต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท )

ถ้าหากมีค่าบนหรือค่าล่าง ค่าใดค่าหนึ่งสูงเกินปกติ ก็ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักจะมีค่าล่างสูง ( ตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ) ร่วมกับค่าบนสูง ( ตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ) มีน้อยคนที่จะสูงเฉพาะค่าล่าง โดยค่าบนไม่สูงและเนื่อง
จากผู้ป่วยที่มีความดันค่าล่างสูง ไม่ว่าจะมีค่าบนสูงหรือไม่ก็ตาม จะมีสาเหตุ การรักษา และการใช้ยาเหมือน ๆกัน จึงไม่ได้แยกเป็นกลุ่มย่อยออกไปต่างหาก

ส่วนผู่ที่มีความดันค่าบนสูงเพียงอย่างเดียว โดยค่าล่างไม่สูง จะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ กับผู้ที่มีความผิดปกติบางอย่าง ( เช่น คอพอกเป็นพิษ หลอดแดงใหญ่ตีบ ) ซึ่งจะมีวิธีการและการใช้ยาแตกต่างจากกลุ่มผู้ป่วยที่มีค่าล่างสูง จึงได้จัดแยกประเภทไว้ต่างหาก

ดังนั้นจึงขอตอบคำถามของคุณเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ
1. ผู้ป่วยที่มีความดันค่าล่างสูงอย่างเดียว จะพบในคนอายุตั้งแต่ 30-35 ปีขึ้นไป ( เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงทั้ง 2 ค่า ) และจะพบได้มากขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น

2. มีสาเหตุ การรักษา และการใช้ยาเหมือนกับผู้ที่มีค่าความดันสูงทั้ง 2 ค่า
สาเหตุมักเกี่ยวกับกรรมพันธุ์ ( มีพ่อแม่ พี่น้องเป็นด้วย ) หรือน้ำหนักตัวมากเกิน ส่วนความเครียด การกินเค็ม และการดื่มเหล้าจัด จะเป็นปัจจัยทำไห้โรคกำเริบมากขึ้น หรือทำให้การรักษาได้ผลน้อยลง
ส่วนการรักษา ผู้ป่วยจะต้องหาทางลดน้ำหนัก ( ถ้าน้ำหนักเกิน ) หมั่นออกกำลังกาย คลายเครียด ลดอาหารเค็มและอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง ( เช่น ผงชูรส ผงฟู สารกันบูด ) ควรงดเหล้าหรือดื่มแต่ปริมาณเพียงเล็กน้อย และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะเสริมให้ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด ( เช่น งดสูบบุหรี่ ควบคุมโรคเบาหวาน หรือภาวะไขมันเลือดสูงที่อาจพบร่วมด้วย )

ส่วนยาลดความดันมีให้เลือกใช้อยู่หลายชนิด โดยควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะเลือกชนิดและปรับขนาดของยาได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจึงควรเลือกติดตามรักษากับแพทย์ใกล้บ้านที่ไว้ใจคนใดคนหนึ่งเป็นประจำ ข้อสำคัญโรคนี้มักจะไม่มีอาการให้รู้สึก ( ได้ชื่อว่า “ นักฆ่าเงียบ ” หรือ “ มัจจุราชมืด ” )

3. ข้อนี้ไม่จริงเสมอไปครับ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงบางคนเท่านั้นครับที่อาจมีภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน หรือโรคเกาต์ร่วมด้วย ซึ่งโรคเหล่านี้อาจเสริมให้เกิดโรคแทรกช้อนทางหัวใจและหลอดเลือดได้มากขึ้น ถ้าพบก็ต้องรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป