• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลูกตัวเหลือง

ลูกตัวเหลือง

ดิฉันอายุ 29 ปี แต่งงานและมีบุตรสาว 1 คน เมื่อดิฉันจะตั้งท้องก็ไม่ได้ตระเตรียมความพร้อมด้านร่างกายมาก่อนเลย เมื่อคลอดลูกปรากฏว่าลูกตัวเหลืองต้องอยู่ในตู้อบนานเป็นสัปดาห์ เมื่อออกจากโรงพยาบาล หมอก็ให้ใบกำกับการใช้ยาของลูกมาบอกว่า ป่วยเป็นโรค “G6PD” ห้ามใช้สารและยาที่ทำให้เกิด Hemolysis สอบถามหมอก็ได้คำตอบคร่าวๆว่าไม่ควรให้เด็กกินยาตามที่ห้ามไว้ในใบนี้ เพราะจะทำให้เด็กเกิดไตวายได้

ดิฉันเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนเกี่ยวกับคนป่วยโรค G6PD เกิดจากการที่กลุ่มเลือดของแม่และลูกไม่เข้ากัน (ดิฉันเลือดกรุ๊ปโอ สามีกรุ๊ปบี) ดิฉันสับสนมาตลอด ไม่รู้จะปรึกษาใครเพราะหมอที่นี่ไม่ค่อยจะให้ความกระจ่างอะไรมาก ใบกำกับยาที่ให้มาก็เก่าแทบจะขาด ไม่ทราบว่ามันสำคัญมากไหม กรุณาให้ความกระจ่างในโรคนี้ด้วยค่ะ

                                                                                                         เนตรนภา/เชียงราย

                                                           ************************
 ตอบ  พ.ญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์

ภาวะพร่อง  G6PD เป็นโรคที่เกิดจากภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พี-ดี ในเม็ดเลือดแดง มักเป็นในผู้ชาย เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดยีนของโรคนี้จากมารดา โดยที่มารดาไม่มีอาการผิดปกติ เนื่องจากมารดามีภาวะที่มียีนแฝงอยู่เท่านั้น ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกสลายง่าย ซึ่งเรียกว่าฮีโมไลซิส (hemolysis) ผู้ป่วยจะมีอาการซีดลง เพลีย ปัสสาวะสีเข้มเหมือนน้ำปลา สีของตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

ในคนปกติ เม็ดเลือดแดงจะวนเวียนอยู่ในกระแสเลือดได้ประมาณ 120 วัน ก็จะแตกสลาย ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่อง จี-6-พี-ดี ก็จะมีลักษณะและอายุของเม็ดเลือดแดงเหมือนคนปกติ เพียงแต่ในบางครั้งเม็ดเลือดแดงผู้ป่วยจะแตกสลายในกระแสเลือด 

สาเหตุที่ทำให้เกิดการแตกสลายของเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยโรคนี้ โดยย่อเป็นดังนี้

1. ภาวะที่มีโรคติดเชื้อ เช่น หวัด ไทฟอยด์ ตับอักเสบ เป็นต้น
2. กินยาบางชนิด ในกลุ่มของยารักษามาลาเรีย , ยาซัลฟา (Sulfa) , ไคไตรม๊อกซาโซล (Cotrimoxazole) , แอสไพริน เป็นต้น
3. กินอาหารบางชนิด เช่น ถั่วปากอ้า
4. สัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น ลูกเหม็น

การรักษาและการปฏิบัติตัว

1. ดื่มน้ำให้มากๆ
2. ถ้าซีด และเพลียมากต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล นำบัตรประจำตัวที่แจ้งชื่อโรคไปแสดงให้แพทย์ดู แพทย์อาจจะต้องให้เลือดถ้าผู้ป่วยซีดมาก
3. หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้เกิดอาการ
4. รักษาโรคที่ก่อให้เกิดอาการ

ภาวะพร่อง จี-6-พี-ดี เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ไม่รุนแรง พบได้ประมาณร้อยละ 12 ของประชากรไทย รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยจะมีโรคนี้ไปตลอดชีวิต โดยที่นานๆครั้งจึงจะแสดงอาการสักครั้ง ถ้ารู้จักหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าว อาจจะไม่แสดงอาการผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเป็นโรคดังกล่าว
สำหรับทารกแรกเกิดที่มีตัวเหลือง และต้องได้รับการส่องไฟ และตรวจพบว่ามีภาวะพร่อง จี-6-พี-ดี ควรจะได้รับการตรวจเลือดเกี่ยวกับ จี-6-พี-ดี ซ้ำเมื่ออายุ 3 เดือน พบว่ามีผู้ป่วยบางรายมีระดับจี-6-พี-ดีปกติ

สำหรับกรุ๊ปเลือด ABO ของแม่และลูกไม่เข้ากันนั้น ในการตั้งครรภ์จะมีแม่และลูกที่มีกรุ๊ปเลือด ABO ไม่เข้ากันร้อยละ 15 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด มักพบในแม่ที่มีเลือดกรุ๊ป O ลูกกรุ๊ป A หรือ B แต่มีเพียงร้อยละ 3 ที่แสดงอาการกรุ๊ปเลือด ABO ไม่เท่ากัน คือมีลูกตัวเหลือง เมื่ออายุ 1-3 วัน และมีเพียงร้อยละ o.1 ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ดังนั้นแม่ที่มีเลือดกรุ๊ป O ลูกกรุ๊ป B จึงไม่ใช่สาเหตุของตัวเหลืองในทารกเสมอไป