• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การทำเลสิก

พิทักษ์ /นครราชสีมา : ผู้ถาม
ผมอายุ 16 ปี สายตาสั้น 400 กับ 325 อยากไปทำเลสิกรักษาสายตาครับ แต่ไม่เข้าใจว่าการทำ เลสิกคือการรักษาอย่างไร สามารถไปรักษาได้ที่ไหนบ้าง หลังจากทำเลสิกต้องพักฟื้นนานเท่าไหร่ และมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้างครับ

นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย : ผู้ตอบ

คุณอายุเพียง 16 ปี หมอยังไม่อยากแนะนำให้ทำเลสิกครับ เพราะหลังทำแล้วสายตาอาจเปลี่ยนไปอีกทำให้ต้องกลับมาใช้แว่นกันอีกรอบ โดยมากเรามักจะรอกันให้อายุ 20 ปีก่อน แล้วทำการตรวจเช็คสายตาให้แน่นอนว่าไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากแล้ว ค่อยไปทำเลสิกครับ

เลสิก (Lasik) หรือทางการแพทย์เรียกว่า รักษาสายตาสั้นด้วยแสงเลเซอร์ (Laser) มีที่มาดังนี้ครับ

LASIK เป็นคำย่อของ Laser In-situ Keratomileusis คือการแก้ไขการหักเหของแสงกระจกตาดำ (cornea) ด้วยการใช้ Laser beam ดังนั้นจะเหมาะอย่างยิ่งในกรณีผู้ป่วยสายตาสั้น ยาว เอียง จะไม่เหมาะกับคนที่กระจกตาไม่ค่อยเรียบ เช่น หลังผ่าต้อเนื้อที่เป็นมากๆ หรือคนที่มีแผลเป็นที่กระจกตาดำ หรืออื่นๆ ครับ 

                                                    

เลสิกมีพื้นฐานมาจากการรักษาสายตาสั้นด้วยแสงวิธีอื่นๆ ซึ่งโดยมากเป็นการผ่านกระจกตาดำออกไปแช่แข็ง ฝนให้แบนเป็นรูปร่างที่ต้องการ แล้วแปะกลับเข้าไปใหม่ แต่ปัญหาก็คือ กระจกตาดำที่ผ่านการแช่แข็ง มีการสมานแผลที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เยื่อบุผิวกระจกตาดำจะลดลง

ดังนั้นก่อนทำเลสิกทุกครั้งต้องวัดสายตาผู้ป่วย และตรวจร่างกายเพื่อดูความพร้อม เช่น จะต้องใช้ ยาชาหรือยาสลบ

ข้อดี ของการทำเลสิกคือไม่เจ็บมาก ทำแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย หลังผ่าตัดไม่ต้องมีการดูแลรักษามากเท่าไหร่ ผู้ป่วยจะไม่อยากสวมแว่นอีกเลย ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการดูแลคอนแทกเลนส์ ไม่พบอาการแทรกแซง เช่น ตาบอด
 
ข้อเสีย คือยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) บางคนต้องทำซ้ำ 2-3 ครั้ง ไม่เหมาะกับคนที่สายตาอยู่ในช่วง 300-800 เพราะถ้าน้อยกว่า 300 ความคลาดเคลื่อนที่มีจะทำให้ผลที่ได้ไม่คุ้ม ส่วนคนที่มากกว่า 800 จะได้ผลไม่พอเพียง บางคนมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาจมีเศษอะไรซักอย่างมาเกาะที่กระจกตา หรืออาจกระจกตาเหี่ยว หรืออาจเห็นภาพแตกเวลามีแสงจ้า ๆ

ผมขอสรุปเรื่องแว่นตา คอนแทกเลนส์ เลสิก ดังนี้ครับ
1. กรณีสายตาสั้นน้อยกว่า 300 ควรใช้อุปกรณ์ภายนอก เช่น แว่นตา หรือคอนแทกเลนส์
2. กรณีที่สายตาสั้นมากกว่า 800 หรือพวกที่สั้นเป็นพันๆ ขึ้นไป การใช้เลสิกอาจช่วยได้บ้างในแง่
- ลดความหนาของเลนส์แว่นตาที่ต้องใส่ลงได้มาก
- อาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดเปลี่ยนใช้เลนส์เทียม (ผ่าตัดเอาเลนส์ธรรมชาติในลูกตาออก เอาเลนส์เทียมที่มีการหักเหแสงเหมาะสมมาใส่แทน) อันนี้ใช้กรณีที่สายตาสั้นมาก ๆ
3. กรณีของสายตาคนมีอายุคือเมื่ออายุมากขึ้น เลนส์ปกติที่เคยปรับตัวเองเพื่อโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ได้
ชัดเจนในตอนหนุ่มสาวจะหมดสภาพลง ทำให้ไม่สามารถโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน เป็นเหตุผลที่คนแก่จำนวนมากต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ ซึ่งเลสิกจะแก้ไขตรงนี้ไม่ได้ครับ

การใช้วิธีใด ๆ ที่ช่วยให้มองเห็นชัดในคนสายตาผิดปกติ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการใช้แว่ตาครับ ส่วนการใช้คอนแทกเลนส์นั้นจะมีโอกาสเสี่ยง โดยเฉพาะถ้าใช้ไม่ถูกวิธี เช่น การใส่ค้างคืน บางครั้งอาจไม่เป็นอะไร แต่บางครั้งหากเคราะห์ร้ายจะมีการติดเชื้อที่กระจกตาดำ ซึ่งเป็นอันตรายมาก ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ คือการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดครับ