• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขาข้างซ้ายไม่ขยับ

ขาข้างซ้ายไม่ขยับ

ถาม : บุญเหลือ/กรุงเทพฯ

ดิฉันอายุ 40 ปี ลูกคนเล็กตอนนี้อายุได้ 1 ขวบ ตอนคลอดกลับไปคลอดที่จังหวัดบ้านเกิด น้ำหนักตัวลูก 3,000 กรัม คลอดได้ 1 วัน ลูกตัวเหลือง คุณหมอนำไปเข้าตู้อบ และต้องถ่ายเลือดให้ลูก(ดิฉันเลือดกรุ๊ป B- Rh ส่วนของลูก B+ Rh)
ทำหมันและพักอยู่โรงพยาบาล 5 วัน ขอกลับบ้านก่อนเพราะลูกคนโตไม่ค่อยสบาย คนเล็กก็ยังอยู่ในตู้อบของโรงพยาบาล 1 สัปดาห์

วันที่ไปรับลูกกลับบ้าน สังเกตเห็นขาข้างซ้ายของลูกไม่ขยับเลยผิดกับข้างขวาที่ถีบได้ดี จับถูกขาซ้ายลูกก็จะร้องตลอด ตอนแรกคิดว่าคงเจ็บเพราะเป็นขาที่ให้น้ำเกลือหลายวันก็ยังไม่หาย สังเกตดูขาซ้ายสั้นกว่าขาขวาด้วย
ดิฉันนึกไม่ถึงและไม่ได้สังเกตตั้งแต่แรกคลอดว่าขาข้างซ้ายของลูกเป็นตั้งแต่เกิด หรือเป็นความผิดพลาด ของโรงพยาบาลช่วงที่ลูกอยู่ในตู้อบ

พาลูกไปพบหมออีกครั้ง หมอส่งไปพบหมอกระดูกเอ็กซเรย์ ผลออกมาว่ากระดูกสะโพกข้างซ้ายหลุด และหมอให้พาลูกไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ
ลูกต้องทรมานใส่เฝือกปูนนาน 1 เดือน ใส่เชือก เฝือกอ่อนต่ออีก 3 เดือน แต่เมื่อดิฉันพาลูกไปพบหมอเอกซเรย์อีกครั้งเหมือนฟ้าผ่ากลางวัน มันไม่ได้ผลกระดูกเคลื่อนอีก แล้วไม่เข้าที่เหมือนขาข้างขวา หมอบอกต้องไปผ่าตัดใส่เหล็กอีกตอน อายุ 1 ขวบกว่า
ทั้งๆ ที่ตอนแรกหมอบอกว่ารักษาตั้งแต่เล็กๆ จะหายง่ายและเร็ว

ดิฉันใช้บัตรทอง 30 บาท รักษาจึงไม่ค่อยได้ผลใช่ไหมคะ
1. ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบ มีทางที่จะรักษาให้ขายาวเท่ากันโดยไม่ต้องผ่าตัดบ้าง สามารถไปรักษาได้ที่โรงพยาบาลไหนค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร จะเดินได้เป็นปกติหรือเปล่า หมอบอกว่าถ้าปล่อยไว้จะเดินขาเป๋และปวดด้วย
2. ถ้าหมดทางจริงๆ ต้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลไหน ไม่อยากกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลเดิมอีก
3. สาเหตุที่กระดูกหลุดเพราะอะไร ตัวดิฉันสงสารลูกยิ่งกว่าตัวเองเสียอีก

ตอบ : นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์

ลูกของคุณมีอาการกระดูกสะโพกข้างซ้ายหลุดตั้งแต่เกิด ซึ่งเกิดจากหัวกระดูกต้นขาซึ่งมีลักษณะกลมไม่ได้อยู่ในเบ้าของกระดูกเชิงกรานอย่างเด็กปกติ ซึ่งอาจเกิดจากเบ้ามีลักษณะผิดปกติ หรือส่วนของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อมีความผิดปกติ

การรักษา คือ เอาหัวกระดูกต้นขาเข้าไปอยู่ในเบ้าให้เร็วที่สุดยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะยิ่งทิ้งไว้นาน ยิ่งเอาเข้ายากขึ้น และผลการรักษาจะไม่ดี ทำให้ขาสั้นการลงน้ำหนักผิดปกติ เดินไม่ปกติ
ในเด็กแรกเกิดเริ่มต้นด้วยการดึงหัวกระดูกต้นขาเข้าในเบ้า จัดขาเด็กให้กางออก ใส่อุปกรณ์กันข้อหลุด (Pavlik harness) หรือเข้าเฝือกไว้ ถ้าไม่มีความผิดปกติของเบ้า

มักได้ผลดี แต่ถ้ามีความผิดปกติของเบ้าร่วมด้วย การรักษาอาจไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีการผ่าตัดต่อไป
ข้อ 1. และข้อ 2. ยังมีทางรักษาได้ โดยการดึงหัวกระดูกต้นขาเข้าไปในเบ้าและเข้าเฝือกเอาไว้ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลอีกควรผ่าตัด โดยปกติถ้าเกิน 2 ปี แล้วควร จะต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด คุณสามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่มีแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ คุณควรปรึกษากับแพทย์ที่รักษาอยู่

ปกติแพทย์ตั้งใจรักษาผู้ป่วยโดยไม่ได้คำนึงถึงว่าเป็นบัตรอะไรทั้งนั้น ถ้าแพทย์ไม่เชี่ยวชาญในโรคที่รักษา แพทย์จะส่งต่อหรือแนะนำไปพบผู้เชี่ยวชาญ
3. สาเหตุนั้นยังไม่ทราบชัดเจน พบเพียงสถิติว่าเด็กผู้หญิงเป็นมากกว่า 6 เท่าของเด็กผู้ชาย และเป็นข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา 4 เท่า รวมทั้งพบในเด็กที่คลอดท่าก้น

เมื่อคุณรักและสงสารลูกขอให้รีบนำลูกไปรักษาต่อทันที