• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์

ถาม : พินิจ/หนองคาย

การตรวจวัดสายตา ทุกวันนี้แข่งขันกันเรื่องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจ ต้องการทราบว่าจำเป็นหรือไม่

ตอบ : ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
เครื่องวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ที่เรียกกันว่า Automated Refractometer มีใช้มากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว อาจจะแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ ๑ กึ่งอัตโนมัติ ต้องอาศัยผู้ที่มาตรวจบ้าง ผู้ถูกวัดต้องให้ความร่วมมือ มองไปข้างหน้า หรือมองไปยังเป้า และต้องทำตานิ่งๆ ผู้วัดต้องมีความรู้พอสมควร

กลุ่มที่ ๒ อัตโนมัติ เริ่มมีใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ใช้แสงอินฟราเรดส่องเข้า ไปในตาดูการหักเหของแสงจากกระจกตา และแก้วตา ได้ค่าของสายตาค่อนข้างแม่นยำ ในตาที่ปกติไม่เป็นโรคตา แต่จะไม่ค่อยแม่นยำในตาที่เป็นโรคต้อกระจก หรือผู้ที่มีรูม่านตา เล็กกว่า ๓ มิลลิ- เมตร วิธีนี้วัดได้เร็วมากใช้เวลาเพียง ไม่กี่วินาที

โดยทั่วไปการวัดสายตาด้วยคอม-พิวเตอร์มีความแม่นยำอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีปัญหาบางอย่างทำให้ความแม่นยำลดลง เช่น

๑. เครื่องส่วนใหญ่ใช้ตรวจตามบริเวณเล็กน้อยที่ตรงกับรูม่านตา ถ้าบริเวณที่ตรวจไม่เรียบ ไม่สม่ำเสมอ ผลที่ตรวจอาจผิดพลาดได้

๒. การจัดตัวเครื่องให้ได้กับระดับตาเป็นสิ่งจำเป็นจึงจะได้ค่าที่แม่นยำ เครื่องเก่าอาจจะจัดค่อนข้างยุ่งยาก

๓. เครื่องวัดมักจะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมไม่ใหญ่โตนัก ผู้ถูกตรวจจะมีความรู้สึกว่าจะต้องมองภาพใกล้ตลอดจึงเพ่งสายตามาก แม้ว่าในเครื่องจะพยายามทำให้ภาพ เป็นเสมือนวัตถุที่อยู่ไกลก็ตาม ทำให้ค่าที่ได้ไม่ถูกต้อง จะได้สายตาสั้นมากกว่าความเป็นจริงไป

อย่างไรก็ตาม เครื่องวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่มีความแม่นยำอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรองผู้มีสายตาผิดปกติคร่าวๆ แต่ถ้าพบว่าสายตาผิดปกติต้องมาทดสอบสายตาด้วยการปรับเลนส์แว่นตา ที่จะใช้ให้เหมาะสมและถูกต้อง

ไม่ควรนำค่าที่วัดจากคอมพิวเตอร์ไปตัดเลนส์ เพียงเอาค่าที่ได้เป็นตัวชี้ลองเลนส์แว่นตา และปรับให้เหมาะกับผู้มีสายตาผิดปกติ เป็นรายๆ ไป ค่าที่วัดจากคอมพิวเตอร์ที่เท่ากันของคน ๒ คน ใช่ว่าจะต้องใช้เลนส์สายตาที่เท่ากันเสมอไป