• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สารให้ความหวาน

สารให้ความหวาน

สารชนิดนี้จะมีอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ ประโยชน์ โทษ และผลข้างเคียงในระยะสั้นและระยะยาวเป็นอย่างไร

ผู้ถาม ปฐมพร/ขอนแก่น
ผู้ตอบ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

  • ถาม

ได้พบการโฆษณาสารให้ความหวานยี่ห้อ “อีควอล” ในหนังสือพิมพ์ว่าสามารถใช้ผสมในเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ หรือชา เป็นต้น แทนน้ำตาลทรายได้ สารตัวนี้จะมีอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ อย่างไร กรุณาช่วยชี้แจงรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับสารตัวนี้ด้วย เพื่อจะช่วยให้ผมและประชาชนทั่วๆไปได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้ช่วยเน้นในเรื่อง วิธีการใช้ที่ถูกต้อง ประโยชน์หรือโทษที่จะได้รับ และอาการข้างเคียงในระยะสั้นและระยะยาว

  • ตอบ

ผลิตภัณฑ์ “อีควอล” นั้นมีส่วนประกอบเป็นสารให้ความหวานที่เรียกว่าแอสปาร์เทม (Aspartame) ผสมกับน้ำตาลแล็กโทส และสารซิลิคอนไดออกไซด์ โดยที่สาร 2 ตัวหลังทำหน้าที่ช่วยในการทำให้ผลิตภัณฑ์อยู่ในลักษณะเป็นผงดีเท่านั้น สารที่ให้ความหวานหลักนั้น คือ แอสปาร์เทม เป็นสารชีวเคมี โมเลกุลของสารนี้ประกอบด้วยกรดอะมิโน 2 ตัวต่อกัน คือ กรดแอสปาร์ติก (aspartic acid) และกรดเฟนิลอะลานีน (phenylalanine acid) จึงเรียกว่า ไดเป็ปไทด์ (dipeptide)

ผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นทะเบียนเป็นยาเลขทะเบียน 1A 8 68/27 โดยขึ้นทะเบียนขออนุญาตให้ใช้แทนน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ดังนั้นคำโฆษณาในหนังสือพิมพ์จึงไม่เกินความจริง ผู้ที่ลดน้ำหนักก็อาจจะนำไปใช้ได้เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาล ในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปบางชนิดในต่างประเทศมีการใช้แอสปาร์เทมแทนน้ำตาล เพื่อเป็นอาหารสำหรับคนเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วน ในน้ำอัดลมในต่างประเทศจะใช้สารนี้ผสมกับแซ็กคารินหรือที่เรียกว่าน้ำตาลเทียม เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีคำนำหน้าว่า Diet… เช่น Diet Pepsi, Diet Coke ซึ่งคนที่ต้องการรักษารูปร่างมักซื้อบริโภค

วิธีการใช้ที่ถูกต้องนั้น ควรให้แพทย์ทางอายุรศาสตร์ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับโรคอ้วนแนะนำและตัดสินใจให้ว่าควรใช้หรือไม่ ผลิตภัณฑ์นี้มีข้อได้เปรียบกว่าแซ็กคารินหรือน้ำตาลเทียมตรงที่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกย่อยออกเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายรู้จักดี อย่างไรก็ตามปัญหาที่อาจจะตามมา ก็คือ ในกรณีของผู้บริโภคที่เป็นโรคเกี่ยวกับเฟนีลคีโตนูเรีย ซึ่งไม่สามารถใช้กรดอะมิโนเฟนีลอะลานีนได้เท่าคนปกติ สารคีโตนที่เกิดขึ้นนั้นมีอันตรายต่อสมองของเด็ก ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงให้เด็กกิน (แม้ว่าคนไทยจะมีอัตราการเป็นโรคนี้ต่ำมากก็ตาม) เพราะไม่มีประโยชน์ยกเว้นอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

อาการข้างเคียงของสารนี้ ยังไม่มีการพบที่ชัดเจนจึงยังจัดว่าเป็นสารที่ปลอดภัยอยู่ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ยังใช้ได้ทั่วไป ตามภัตตาคารจะเห็นใส่ซองคู่กับซองน้ำตาลทรายเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกได้ ในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นอาหารหรือผสมกับอาหารที่ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ แต่ภายในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับอาหารลดน้ำหนักออกมา สารให้ความหวาน เช่น แอสปาร์เทม แซ็กคาริน และอื่นๆ จะสามารถขึ้นทะเบียนอาหารได้

ข้อน่าสังเกต คือ อาหารที่ใช้น้ำตาลเทียมเหล่านี้จะมีรสชาติไม่ดีเท่ากับอาหารที่ใช้น้ำตาลจริงๆ ซึ่งอาจเป็นข้อดีทำให้ผู้บริโภคเบื่อของหวาน ช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผล แต่ในทางตรงกันข้ามถ้ามีการใช้ในอาหารสำหรับคนทั่วไปแล้วอาจเกิดการซื้ออาหารที่ใส่น้ำตาลเทียมตามแฟชั่นนิยม ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเบื่ออาหารได้ และเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ในการบริโภคน้ำตาลเทียมนี้