• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความสูง

ความสูง

ผมอายุ 17 ปี มีความสูง 155 เซนติเมตร จะมีความสูงเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า และมีน้ำหนัก 53 กิโลกรัม ถือว่าอ้วนไปหรือเปล่า

ผู้ถาม นรินทร์/พิษณุโลก
ผู้ตอบ อาจารย์อุไรพร จิตต์แจ้ง

  • ถาม

ผมสูง 155 เซนติเมตร ถ้าต้องการสูงอีกจะมีสิทธิ์สูงถึงประมาณกี่เซนติเมตรจึงหยุดสูง ตอนนี้อายุ 17 ปี หนัก 53 กิโลกรัม (พ่อสูงประมาณ 162 เซนติเมตร แม่สูงประมาณ 145 เซนติเมตร)

  • ตอบ

คุณอายุ 17 ปี อาจจะสูงขึ้นอีกไม่มากนัก เนื่องจากโดยเฉลี่ยเด็กไทยความสูงจะพุ่งขึ้นเร็วในช่วงอายุ 11 ถึง 16 ปี หลังจากนั้นจะสูงขึ้นอีกประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนสูงของคุณค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อพิจารณาส่วนสูงของพ่อแม่ (โดยใช้การปรับส่วนสูงที่มีผลจากพ่อแม่) ส่วนสูงของคุณอยู่ในเกณฑ์ปกติของกลุ่มที่มีส่วนสูงของพ่อแม่ระดับเดียวกันนี้ กล่าวคือ ในกรณีของคุณกรรมพันธุ์คงมีส่วนเกี่ยวข้อง

  • ถาม

ผมอ้วนไปหรือเปล่า มีวิธีลดอย่างไร ทั้งอาหารและออกกำลังกาย

  • ตอบ

น้ำหนักและส่วนสูงตกอยู่บนช่วงคาบเกี่ยวของภาวะน้ำหนักเกิน (ท้วม) และภาวะอ้วนพอดี ชายไทยที่มีส่วนสูง 155 เซนติเมตรจะมีน้ำหนักตัวในเกณฑ์ปกติเฉลี่ย 44 กิโลกรัม น้ำหนักของคุณจึงเกินน้ำหนักเฉลี่ยมา 20 เปอร์เซ็นต์พอดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่า เริ่มเข้าสู่ภาวะอ้วน เมื่อคุณอาจไม่สูงขึ้นอีกมากนัก คุณอาจลดน้ำหนักลง 4-5 กิโลกรัม ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ช่วงน้ำหนักปกติของความสูงนี้โดยใช้การควบคุมอาหารเป็นหลัก ควรพิจารณาอาหารที่กินอยู่ว่าเป็นอย่างไร หากไขมันสูงเกินไป เช่น ชอบของทอด หรือกินของหวาน หรืออาหารจำพวกแป้ง (รวมทั้งข้าว) มากเกินไป ก็ลองลดอาหารเหล่านี้ลง ส่วนเนื้อ นม ไข่ และผักผลไม้ไม่ควรลด เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และน่าจะเพิ่มนม ผักและผลไม้ (ที่ไม่หวานจัด) ส่วนการออกกำลังกายหากมี จะดีต่อสุขภาพ โดยส่วนรวม การว่ายน้ำกลางแจ้งน่าจะเหมาะกับคุณเพราะได้แสงแดดช่วยเสริมสร้างกระดูก ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมเพื่อหวังผลในการใช้พลังงานส่วนเกิน ซึ่งคุณอาจเหนื่อยและหิวจนกินมากกว่าเดิม และเมื่อใดที่คุณหยุดออกกำลังกายโดยยังมีบริโภคนิสัยแบบหลัง คุณจะกลับมีน้ำหนักเพิ่มมากกว่าเดิมได้

  • ถาม

อยากให้ช่วยจัดตาราง หรือเวลากินอาหารทั้ง 3 มื้อ ควรมีอะไรบ้าง

  • ตอบ

คนเราไม่อาจกินอาหารซ้ำซากได้ทุกๆ วัน และความชอบชนิดของอาหารก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง การจัดตารางอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก (ที่เกินไม่มากนัก) จึงน่าจะเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะดูแลตนเองได้โดยถือหลักง่ายๆคือ หลีกเลี่ยงของมัน (รวมทั้งกะทิ) ลดหรืองดของหวาน (รวมทั้งผลไม้ที่มีรสหวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม) กินอาหารจำพวกแป้งแต่พอควร เพิ่มผักและผลไม้ที่มีกากใย (ฝรั่ง ส้ม) กินอาหารเป็นเวลาไม่กินจุบจิบระหว่างมื้อ มื้อเช้าและกลางวันควรกินให้เพียงพอที่จะดำเนินกิจกรรมประจำวันได้โดยไม่หิวโซ มื้อเย็นอาจกินน้อยลงและให้ห่างเวลาเข้านอนพอสมควร ในกรณีของคุณควรดื่มนมอาจจะเป็นเช้าและเย็น คุณรู้ว่าปกติคุณกินเท่าไร คุณก็ลดปริมาณลง สังเกตน้ำหนักว่าลดลงหรือไม่ หากไม่ลดลงก็ลดปริมาณลงอีก แต่ถ้าน้ำหนักลดลงคุณก็รักษาลักษณะการกินนั้นต่อไป การควบคุมอาหารแบบไม่ฝืนบริโภคนิสัยมากนัก จะคงสภาพของน้ำหนักที่ลดได้ดี เนื่องจากเป็นการปรับเปลี่ยนบริโภคนิสัยไปในตัวจนเคยชิน แต่อาจใช้เวลานาน คุณไม่ได้อ้วนขึ้นมาในวันเดียว จะลดในวันสองวันย่อมเป็นไปไม่ได้

  • ถาม

นมเปรี้ยวกับนมสด อย่างไหนให้คุณค่ามากกว่ากัน (ใช้ยาคูลท์แทนนมเปรี้ยว)

  • ตอบ

นมเปรี้ยวที่มีขายอยู่ คือ ยาคูลท์ มีจุดประสงค์การใช้อีกแบบหนึ่ง หากจะหวังประโยชน์ของคุณค่านมที่เป็นส่วนผสมอยู่ก็คงไม่ได้ เนื่องจากปริมาณที่ดื่มได้มีจำกัด ถ้าจะหมายถึงโยเกิร์ตชนิดดื่มซึ่งทำมาจากนมและมีส่วนของน้ำผลไม้ น้ำตาล และการแต่งกลิ่น สี รส คุณค่าก็จะน้อยกว่านมสดล้วนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่เราต้องการแคลเซียมในนม ขอแนะนำให้คุณดื่มนมสดหรือนมพร่องเนยรสจืด ถ้ามีอาการไม่สบายท้องหลังการดื่มนม ให้เริ่มดื่มในปริมาณน้อยๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มและดื่มหลังอาหาร ถ้าอาการนั้นยังไม่หายไปก็อาจกินโยเกิร์ต ซึ่งน้ำตาลแล็กโทสในนมที่เป็นสาเหตุของอาการไม่สบายท้องถูกเปลี่ยนสภาพไป หากคุณเลือกโยเกิร์ตอย่างถ้วยชนิดไม่ใส่ผลไม้ก็จะได้คุณค่าใกล้เคียงกับนม ถ้าเป็นสูตรที่เติมนมผงด้วยอาจได้แคลเซียมมากกว่านมสดในปริมาณเดียวกัน