แพ้ยา
กินยาแก้แพ้และยาซัลฟา พอกินยาได้สักครึ่งชั่วโมงเกิดอาการแสบร้อน ดิฉันคิดว่าแพ้ยา ถ้าดิฉันเป็นโรคที่ต้องใช้ยานี้อีกควรทำอย่างไร
ผู้ถาม วิมลพรรณ/กรุงเทพฯ
ผู้ตอบ พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค
ดิฉันอายุ 29 ปี แต่งงานแล้ว มีบุตร 2 คน อาชีพรับราชการ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพ้ยาตามข้อมูลที่พอจะจำได้ดังนี้ค่ะ
ปี 2528 หลังคลอดบุตร กินยาแอมพิซิลลิน แพ้เป็นลมพิษ กลางปี 2531 ถูกตัวเห็บกัดศรีษะ ทายา Lidex NGN® แพ้เกิดอาการแสบร้อนที่อวัยวะเพศเหมือนถูกพริก เมื่อประมาณสองเดือนกว่าๆ ดิฉันเป็นผื่นคันที่ขาหนีบ หมอให้ยา Trosyd® มาทา ส่วนที่หายก็หาย (แต่ช้ามาก) และลามต่อก็มี ทาอยู่นานเป็นเดือน บังเอิญดิฉันเป็นหวัดเกือบเดือนไม่หาย หมอให้กินยาแก้แพ้กับยาซัลฟา พอกินยาได้สักครึ่งชั่วโมง ก็เกิดอาการแสบร้อนเหมือนตอนทายาที่ศีรษะ และคันไปถึงตา ปากด้วย ดิฉันคิดว่าแพ้ยา หมอให้หยุดยาซัลฟาและยาทาด้วยอาการก็หายไป
ปกติดิฉันมักจะแพ้สารเคมีได้ง่าย ตั้งแต่แมลงมีพิษจนถึงควันบุหรี่ พอได้รับพิษหรือกลิ่นจะปวดหัวทันที
ดิฉันแพ้แอมพิซิลลิน Lidex NGN® และซัลฟาใช่ไหมคะ หรือเพราะดิฉันได้รับยาเกินขนาด (ทั้ง Trosyd® ทาและกินซัลฟา)
ตอบ
สำหรับยาแอมพิซิลลินและยาซัลฟาที่ใช้กินนั้น ตามอาการที่คุณเล่ามาก็พอจะเชื่อว่า คุณแพ้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จริง แต่ยา Lidex NGN® และยา Trosyd® ซึ่งเป็นครีมที่ใช้ทาเฉพาะที่ ประวัติที่ให้มายังไม่สามารถยืนยันได้แน่นอนว่าคุณแพ้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะยา Lidex NGN® จะประกอบด้วยตัวยาถึง 4 ชนิดรวมกัน คือ ยาพวกสตีรอยด์ นีโอมัยซิน แกรมมิซิดิน และนิสเตติน ดังนั้นการจะพิสูจน์ว่า คุณแพ้ยาชนิดไหนแน่ อาจทำได้โดยใช้ตัวยาแต่ละชนิดทาลงบนผิวหนังบริเวณแขน หรือบริเวณหลังเป็นวงกว้างราว 1 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 48-72 ชั่วโมง หากเกิดผื่นคันขึ้นตรงบริเวณที่ทายาชนิดใดแสดงว่าแพ้ยาชนิดนั้น การทดสอบเช่นนี้มีบริการในแผนกโรคผิวหนังตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ทั่วทุกแห่ง และการแพ้ยานี้ไม่ได้เกิดจากการใช้ยาเกินขนาด โดยเฉพาะยา Trosyd® ทาและยาซัลฟาสำหรับกินเป็นยาคนละชนิดกัน
ถาม
ถ้าดิฉันเกิดเป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยยาพวกนี้ จะต้องทำอย่างไร
ตอบ
ปัจจุบันมียาให้เลือกใช้ได้มากมาย จึงไม่ต้องกังวลว่าจะหายาที่คุณไม่แพ้มาใช้ไม่ได้ ในสมัยโบราณผู้ป่วยที่แพ้ยาเพนิซิลลิน แต่เกิดเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงที่จำเป็นต้องใช้เพนิซิลลิน เพราะยังไม่มียาปฏิชีวนะชนิดอื่นให้เลือกมากเช่นในปัจจุบันก็อาจมีวิธีทำให้หายชั่วคราวได้ โดยค่อยๆ ให้เพนิซิลลินเข้าไปทีละน้อย ในขนาดที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอาการแพ้และค่อยเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ใช้ในการรักษาโรค แต่การทำเช่นนี้ต้องทำในโรงพยาบาล เพราะอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายได้ และเมื่อหยุดการให้ยาเช่นนี้แล้ว ไม่นานก็กลับเกิดอาการแพ้เช่นเดิมได้อีก ปัจจุบันมียาปฏิชีวนะหลายจำพวกให้เลือกใช้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีที่ยุ่งยากดังกล่าวอีก
ถาม
สาเหตุของการแพ้ต่างๆ มีอะไรบ้าง จิตใจเกี่ยวข้องไหม
ตอบ
สาเหตุของการแพ้ ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะการแพ้ยาที่เกิดเนื่องจากตัวยาที่เป็นสารเคมีนั้นมีคุณสมบัติในการที่จะจับกับสารโปรตีนในร่างกาย เกิดเป็นสารก่อภูมิแพ้ขึ้น สารก่อภูมิแพ้นี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานที่เรียกว่า แอนติบอดี ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้นั้น ก่อให้เกิดอาการแพ้ยานั้นๆ ขึ้น การที่คนไหนจะแพ้ยาหรือไม่แพ้เกิดจากความผิดปกติของระบบสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่เกี่ยวกับจิตใจ
ถาม
มีโอกาสจะใช้ยาตัวนั้นๆ โดยไม่มีอาการแพ้ได้อีกไหมคะ เพราะเคยอ่านเจอในหนังสือว่าคนที่เคยแพ้ยาบางตัว อาจจะไม่แพ้อีกก็ได้ภายหลัง
ตอบ
เท่าที่ทราบ เมื่อแพ้ยาชนิดใดแล้ว ไม่ควรกลับไปใช้ยาชนิดนั้นอีก เพราะอาการแพ้มักจะรุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ คนที่เคยแพ้ยาบางชนิดแล้วภายหลังไม่แพ้อาจมีบ้าง แต่คงน้อยมาก
ถาม
อาการแพ้เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่
ตอบ
โรคภูมิแพ้นั้นถือเป็นโรคที่อาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ แต่ไม่จำเป็นที่ลูกหลานจะต้องแพ้ยาชนิดเดียวกับพ่อแม่ และอาจเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหืด โรคตาอักเสบจากภูมิแพ้ ลมพิษ เป็นต้น
ถาม
ขอข้อแนะนำเพิ่มเติมเท่าที่คุณหมอเห็นสมควรค่ะ
ตอบ
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่แพ้ยา คือ เมื่อเกิดอาการผิดปกติหลังจากใช้ยาชนิดใดก็แล้วแต่ ต้องรีบกลับไปพบแพทย์หรือไปที่ร้านขายยาที่ซื้อยาชนิดนั้นมา เพื่อขอคำปรึกษาว่า น่าจะเป็นอาการแพ้ยาจริงหรือไม่ และเป็นตัวยาชนิดใด เมื่อได้ทราบแน่นอนแล้วว่าเป็นยาชนิดใด ต้องจดชื่อยาและเก็บติดตัวไว้ตลอดเวลา ในครั้งต่อไปก่อนจะรับยาจากแพทย์หรือซื้อยากินเองก็ตาม ต้องแจ้งให้ทราบว่าแพ้ยาชนิดใดบ้าง เพื่อที่ผู้จ่ายยาจะไม่ให้ยาชนิดที่แพ้มาอีก ส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติกันเมื่อเกิดอาการแพ้ยา ก็คือ ไม่กลับไปหาแพทย์คนเดิมอีก เนื่องจากความกลัวหรือโกรธที่แพทย์ให้ยาแล้วแพ้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ไม่ทราบว่าแพ้ยาอะไรแน่ เมื่อไปรักษากับแพทย์คนอื่นก็อาจได้รับยาที่เคยแพ้มาอีก ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่า การแพ้ยานี้อาจเกิดขึ้นกับผู้ใดและกับยาชนิดใดก็ได้ แพทย์ผู้รักษาไม่สามารถจะทำนายได้ว่า ผู้ป่วยรายใดจะแพ้ยาอะไร แต่เมื่อเกิดการแพ้ยาขึ้นแล้ว เป็นหน้าที่ของทั้งแพทย์และผู้ป่วยที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้ยาชนิดเดิมขึ้นอีก โดยปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้กล่าวมาแล้ว
- อ่าน 4,636 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้