• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้กาฬหลังแอ่น

ประมาณครึ่งหนึ่งของคนปกติจะมีเชื้อโรคนี้อยู่ในช่องปากและช่องจมูกโดยไม่มีอาการ

ถาม

รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องของไข้กาฬนกนางแอ่น หัวข้อต่างๆ ที่ข้าพเจ้าต้องการทราบเกี่ยวกับโรคนี้ก็คือ
1. ชื่อของโรคซึ่งนอกจากจะชื่อโรคดังกล่าวมาแล้ว ยังมีชื่อเรียกอีกว่าอะไร
2. ที่มาของโรค
3. ลักษณะของผู้เป็นโรคนี้
4. อาการของผู้ป่วยเป็นโรค
5. การติดต่อของโรค
6. การควบคุมและการป้องกัน
7. หัวข้ออื่นๆอีก ถ้าท่านมี
พรเทพ/กรุงเทพฯ

ตอบ
1. ตามตำราแพทย์ (โรคเขตร้อน) เรียก “ไข้กาฬหลังแอ่น” (meningoccal meningitis)

2. และ 5. เชื้อโรคนี้มีอยู่ในตัวคนเรา โดยปกติได้ ประมาณครึ่งหนึ่งของคนปกติจะมีเชื้อนี้ (เชื้อชื่อ เมนินโกคอกคัส) อยู่ในช่องปากและช่องจมูกโดยไม่มีอาการ และอาจแพร่กระจายสู่คนอื่นโดยการหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบขึ้น (ถ้าคนๆนั้นไม่มีภูมิต้านทานหรือเผอิญเกิดจะเป็นโรคนี้ขึ้น) เฉพาะที่ในช่องจมูกและช่องปาก ต่อไปอาจลุกลามปล่อยพิษเข้ากระแสเลือด หรือเชื้ออาจลุกลามเข้าไปยังเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

3. และ 4. ลักษณะอาการมีอยู่ 4 ประเภท

พวกแรก เกิดอาการฉับพลัน มีอาการปวดหัว เจ็บคอและไอ ต่อมามีไข้สูง หนาวสั่น ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่ขาและหลัง

ประมาณร้อยละ 75 จะเกิดผื่นทั่วตัวลักษณะเป็นจุดแดงๆรอยเลือดออกได้ทั่วตัว มักเกิดผื่นภายหลังมีไข้แล้ว 1-2 วัน และต่อมาอีก 2-3 วันรอยเลือดออกนี้จะเป็นสีคล้ำและเป็นสะเก็ดสีดำ บางครั้งเป็นตุ่มน้ำมีจุดแดงอยู่ตรงกลาง

พวกที่ 2 พบได้น้อย มีไข้ ผื่นตามผิวหนัง ปวดข้ออยู่เป็นเดือนๆ และมีไข้เป็นๆหายๆ ระหว่างไม่มีไข้ก็สบายดี

พวกที่ 3 เป็นรุนแรงมาก และพบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วย อาจช็อกถึงตายได้ภายในวันเดียวหลังจากเริ่มมีอาการ อาการเริ่มมีไข้สูงทันที มักจะไม่มีอาการอื่นๆร่วมให้เห็น

พวกที่ 4 มีอาการทางเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่มักพบในเด็กๆ หรือวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่
อาการคือ มีไข้ ปวดหัว คอและหลังแข็ง เพราะมีการระคายเคืองต่อเยื่อหุ้มสมอง เลยเรียกว่า “หลังแอ่น”

6. การรักษา ให้ยาเพนิซิลลินดีที่สุด ในรายที่แพ้เพนิซิลลินควรใช้คลอแรมเฟนิคอล หรือยาซัลฟา ถ้ามีอาการหนักต้องอยู่โรงพยาบาล เพราะต้องรักษาประคับประคองอย่างอื่นอีกมาก เช่น ให้น้ำเกลือ
การป้องกัน ถ้าไปสัมผัสผู้ป่วยเป็นโรคนี้เข้า ควรให้ยาป้องกัน ต้องรีบให้เพราะเชื้อโรคจะฟักตัวในร่างกายภายใน 5 วัน ถ้าให้ช้าไปกว่านี้จะไม่ทัน ยาป้องกันที่นิยมใช้กันคือกินยาซัลฟาไดอาซีน 1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง 4 ครั้ง (ในเด็กลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 500 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง 4 ครั้งเช่นกัน)

7. ไม่มี
จากตำรา โรคเขตร้อน โดย ศ.พญ.นิภา จรูญเวสม์ และคณะ
นพ.สาธิต วรรณแสง