ลมชัก
โรคลมชักเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร การรักษาควรปฏิบัติอย่างไร
ผู้ถาม สมัคร/ระยอง
ผู้ตอบ น.พ.นิพนธ์ พวงวรินทร์
ผมไปหาหมอ หมอบอกว่าผมเป็นโรคลมชัก มีอาการปวดจมูก เบ้าตา หน้าผาก ขมับ หน้าอก และขา ผมไปรักษาที่ไหนก็ไม่หาย อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำว่าโรคนี้จะรักษาอย่างไร
ตอบ
ปัญหาโรคลมชัก เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางระบบประสาท รองลงมาจากภาวะปวดศีรษะ ในประชากร 100 คน จะพบว่า มีผู้ป่วยโรคลมชักประมาณ 1 คน นั่นคือ ประเทศไทยเรามีประชากร 55 ล้านคน จะมีผู้ป่วยโรคลมชักประมาณ 5 แสน 5 หมื่นคน สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากพันธุกรรม อุบัติเหตุขณะคลอด การติดเชื้อต่อระบบประสาทส่วนกลางในวัยเด็ก อุบัติเหตุสมองพยาธิตืดหมูขึ้นสมอง เนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดของสมองพิการ ภาวะไข้สูง โรคติดเชื้อในระบบต่างๆ สมองขาดเลือด และสมองฝ่อ
ดังนั้นโรคลมชักจึงมี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ อาการจึงหายได้ ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นพวกไม่ทราบสาเหตุ หรือหาสาเหตุไม่พบ พวกนี้มักจะมีประวัติชักในครอบครัวร่วมด้วย เช่น บิดา มารดา หรือพี่น้องท้องเดียวกันมีอาการชัก ในกลุ่มที่สองนี้มักจะต้องได้ยารักษาและป้องกันโรคลมชักตลอดชีวิต แต่บางรายถ้าไม่ปรากฏอาการชักเลยภายหลังได้ยาป้องกันชักนานเกิน 3 ปีติดต่อกัน แพทย์ผู้ดูแลก็จะค่อยๆ พิจารณาลดยาลงทีละน้อยจนหยุดยาได้ ซึ่งจะมีเพียงร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วย แต่ถ้าหากมีอาการชักกลับมาอีกภายหลังหยุดยาป้องกันชัก ก็จำเป็นต้องให้ยารักษาป้องกันชักต่อไปจนตลอดชีวิต
การรักษาโรคลมชักมักอาศัยยากันชัก ซึ่งบางรายอาจใช้ยาเพียงชนิดเดียว บางรายต้องอาศัยยา 2-3 ชนิดร่วมกันจึงควบคุมและป้องกันอาการชักได้ ซึ่งโดยมากแพทย์จะต้องเป็นผู้ให้การรักษาและปรับขนาดยาที่เหมาะสม โดยมักจะนัดผู้ป่วยมารับยา และแนะนำการปฏิบัติตัวทุก 2-3 เดือนเป็นประจำ
สิ่งที่ผู้ป่วยโรคลมชักห้ามทำ คือ
1. ดื่มเหล้า เพราะเหล้าเป็นตัวกระตุ้นให้ชัก
2. อดนอน
3. อดอาหาร ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ จะชักง่าย
4. ทำงานมาก หักโหม จนอ่อนเพลีย จะมีอาการชักง่าย
5. ขาดยา หรือหยุดยาเอง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดชักติดต่อกันจนหมดสติได้ และภาวะดังกล่าวนี้มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 20-30 ถ้าแก้ไขไม่ทันท่วงที
ผู้ป่วยโรคลมชักไม่สมควรทำสิ่งต่อไปนี้
1. ขับรถยนต์ เรือยนต์ ในต่างประเทศมีกฎหมายห้ามผู้ป่วยโรคลมชักขับรถยนต์เด็ดขาด จนกว่าจะควบคุมการชักได้ 3 ปีโดยไม่มีอาการเลย จึงได้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ในเมืองไทยไม่มีกฎหมายดังกล่าว ซึ่งนับว่าเสี่ยงภัยมาก เพราะถ้าผู้ป่วยชักขณะขับรถยนต์ นอกจากจะเกิดอันตรายต่อตัวเองแล้ว ยังมีผลร้ายต่อผู้อื่นและทรัพย์สินอีกด้วย
2. ว่ายน้ำคนเดียว เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำตายได้
3. ปีนเขาหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงอันตราย
ส่วนปัญหาของคุณเรื่องปวดจมูก เบ้าตา หน้าผาก ขมับ หน้าอก และขา ซึ่งรักษาที่ไหนก็ไม่หาย ผมคิดว่าคุณไม่ได้เป็นโรคในอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวมากมาย นอกจากเกิดจากกล้ามเนื้อเกร็งบีบตัวแรงในทุกตำแหน่งที่กล่าวมา ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการปวดได้ ซึ่งเป็นอาการปกติของอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
วิธีรักษาคือ รู้จักวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อันได้แก่ การผ่อนคลายความเครียดและเกร็งของกล้ามเนื้อนั่นเอง ผมคิดว่าถ้าหากคุณทราบเรื่องโรคพื้นฐานของคุณ คือ โรคลมชักดังผมได้กล่าวมาแล้ว อาจช่วยทำให้คุณคลายกังวลและลดความเครียดไปได้ อาการปวดต่างๆ ก็คงหายไป แต่ถ้าไม่หาย ผมขอแนะนำให้คุณพักผ่อนให้พอ ทำงานอดิเรกที่ชอบทำ เช่น ปลูกต้นไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่งเหยาะๆ ทุกเช้า เป็นต้น
ในกรณีที่คุณมีอาการปวดรุนแรง และต้องอาศัยยากินแก้ปวด ผมแนะนำให้กินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด จะช่วยให้คุณสบายขึ้นมาก
- อ่าน 5,020 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้