• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต

ถาม : สุรศักดิ์/ยะลา

ขณะนี้ผมอายุ 51 ปี เป็นเกษตรกรชาวสวนยางอยู่จังหวัดยะลา เมื่อ 6 เดือนก่อน ผมเป็นโรคต่อมลูกหมากโต หมอให้ยามากินอาการดีขึ้นและหยุดกินยามา 3 เดือน ขณะนี้มีอาการเหมือนครั้งแรกๆ ที่เป็น คือปัสสาวะบ่อยๆ ต้องรอสักครู่หนึ่ง รู้สึกแย่มาก เพราะพักผ่อนไม่เต็มที่ หดหู่ที่ต้องมาเจ็บไข้ได้ป่วย

ผมขอเรียนถามดังนี้
1.โรคนี้รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ และรักษาด้วยวิธีไหนดีที่สุด (ปัจจุบันกินยา Cardura)

2.ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไหน

3.ควรปฏิบัติตัวในชีวิตประจำ วันอย่างไรเมื่อเป็นโรคนี้

4.ต่อมลูกหมากโตสามารถนำไปสู่มะเร็งต่อมลูกหมากได้หรือไม่

5.อายุ 51 ปี เร็วไปหรือเปล่าที่เป็นโรคนี้ ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ
 

ตอบ : นพ.กฤษฎา รัตนโอฬาร

โรคต่อมลูกหมากโต ตามความเข้าใจกันโดยทั่วๆ ไปคือเนื้องอกของต่อมลูกหมาก ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นเนื้องอกธรรมดา อีกประเภทหนึ่งคือเนื้องอกชนิดร้ายแรง หรือมะเร็งของต่อมลูกหมาก
โดยทั่วไปเนื้องอกของต่อมลูกหมากมักจะพบในคนสูงอายุ ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งพบได้บ่อยขึ้น สำหรับคุณซึ่งอายุเพียง 51 ปี อาจจะเร็วไปสักหน่อยสำหรับการเป็นเนื้องอกของต่อมลูกหมาก แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็อาจจะเกิดจากโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับเนื้องอกของต่อมลูกหมากได้
อาทิเช่น การตีบตันของท่อปัสสาวะ หรือรอยต่อของกระเพาะปัสสาวะกับท่อปัสสาวะ
กระเพาะปัสสาวะทำงานบกพร่องจากความผิดปกติของระบบประสาท นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
ซึ่งแพทย์ที่ตรวจรักษาคงจะให้การวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง

ผมขอตอบปัญหาที่ถามมาดังนี้
1.เนื้องอกของต่อมลูกหมากชนิดธรรมดา มีการรักษาหลักๆ อยู่ 3 อย่างคือ การเฝ้าติดตามดูเป็นระยะ การรักษาด้วยยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะใช้วิธีไหนขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และข้อบ่งชี้ในการรักษาโดยทั่วไปถ้าอาการยังไม่รุนแรงหรือยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แพทย์มักจะใช้วิธีเฝ้าติดตามหรือรักษาด้วยยา สำหรับการรักษาด้วยยาผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่องกันไป ไม่มีกำหนดหยุดยา
ยาที่คุณกินอยู่ขณะนี้ก็เป็นยาตัวหนึ่งที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาการขับปัสสาวะ อันมีผลมาจากต่อมลูกหมาก

2.สำหรับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงนั้นไม่มี

3.การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำ วันตามปกติ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนานจนเกินไป

4.เนื้องอกต่อมลูกหมากชนิด ธรรมดากับเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือมะเร็งเป็นคนละโรคกัน เนื้องอกชนิดธรรมดา จะไม่กลายเป็นมะเร็งในภายหลังแต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่อาจพบโรคทั้ง 2 ร่วมกันได้

5.อายุ 51 ปีนั้น เร็วเกินไปสักนิดแต่ก็เป็นได้