• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคซาง

โรคซาง


ดิฉันมีปัญหาจะถามคุณหมอดังนี้คือ
ที่บ้านดิฉันเป็นร้านขายยา ทุก ๆ วัน แม่บ้าน พ่อบ้าน ชาวชนบทหรือตามตำบลนอก ๆ เมือง จะมาที่ร้านเป็นประจำทุกวันไม่เคยขาด เพื่อหาซื้อยาแก้ทรางเด็ก ส่วนมาก (แทบทุกราย) จะมาถามว่า “เด็กเป็นทรางจะกินยาอะไรดี” ดิฉันก็จะถามว่า “เด็กอายุกี่ขวบ มีอาการเป็นอย่างไร” ส่วนมากจะมีอายุราว ๆ 1 ขวบ ถึง 3 ขวบ หรือ 6 เดือนก็ยังมี เขาจะเล่าให้ฟังว่า เวลานอนกลางคืน เด็กจะมีเหงื่อออกตามหัว เท้า ทั้ง ๆ ที่อากาศเย็น กินไม่จุ ไม่ค่อยกิน บางคนพาลูก ๆ ไปฉีดยารักษาทรางจนลูกอ่อนปวกเปียก (ฉีดกับพวกที่ไปรับฉีดยาตามบ้าน)

เมื่อดิฉันบอกเขาไปว่าเด็กไม่ได้เป็นอะไร จะกินยา ฉีดยาให้เปลืองเงินทำไม สงสารเด็ก แต่พวกเขาก็ดื้อเอายาท่าเดียว ดิฉันควรจะแนะนำเขาอย่างไร นอกจากแนะนำให้ถ่ายพยาธิ เด็ก ๆ และให้วิตามิน บางรายจะไม่ยอมรับวิตามิน แต่จะเอายาทรางกุมารต่าง ๆ ที่มีขายทั่วไป (ยาแผนโบราณ)อาการเหงื่อออกตามตัว ตามมือ และเท้าของเด็กเวลาเด็กนอน (อากาศไม่ร้อน) ใช่อาการของโรคหรือไม่ มียารักษาหรือไม่ และโรคทรางคือโรคอะไร

                                                    
                                                                                                                                                นิ่มนวล


ตอบ

เรื่อง ทราง หรือ ซาง นั้น ใน หมอชาวบ้าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ก็มีพูดถึงบ้างแล้ว มักหมายถึงโรคในเด็ก เด็กเป็นไข้ตัวร้อน ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือมีอาการท้องเสีย ก็เรียกว่า ซาง ได้ เด็กพุงโรก้นปอดขาดอาหารก็เรียกว่า ซาง คำนี้จึงมีความหมายเพียงว่า “โรคในเด็ก” ซึ่งมีสาเหตุได้จิปาถะ แต่จะพูดให้แคบเข้าก็คงหมายถึงอาการขาดอาหาร หรือพุงโรก้นปอด จากพยาธิในลำไส้ ดังนั้นที่คุณแนะนำชาวบ้านไปดังที่เล่ามาจึงนับว่าใช้ได้ครับ คือไม่ต้องฉีดยาให้เจ็บตัวและเสียเงินเปล่า ๆ ให้ยาถ่ายพยาธิ ยาวิตามินต่าง ๆ และถ้าเป็นไปได้ ควรแนะนำเรื่องอาหารสำหรับเด็ก ควรให้กินพวกเนื้อ นม ไข่ (อาหารพวกโปรตีน) ให้มากขึ้นด้วย จะช่วยเด็กไม่ให้ขาดอาหาร ถ้าพ่อแม่มีฐานะพอสมควร ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าฐานะยากจน ก็คงจะแนะนำแบบนี้ไม่ได้

เรื่องนี้ให้อ่านรายละเอียดใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 เรื่อง “พุงโรก้นปอด” จะช่วยให้ทราบรายละเอียดได้มากขึ้น


                                                                                                             นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ