• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกเสื่อม

กระดูกเสื่อม

คุณหมอที่ตรวจบอกว่า ทุกข้อในร่างกายดิฉันเริ่มเสื่อมแล้ว ทำไมคนเราเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปแล้วกระดูกเสื่อม ข้อเสื่อมทุกคนเลยหรือเปล่า จะป้องกันได้อย่างไร

ผู้ถาม จารุวรรณ/สมุทรปราการ
ผู้ตอบ พญ.เล็ก ปริวิสุทธิ์

ถาม
ดิฉันอายุ 49 ปี น้ำหนัก 60 กิโลกรัม สูง 157 เซนติเมตร ปัจจุบันทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า และทำงานบ้านนิดหน่อย เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา มีอาการปวดคออย่างมากจนร้าวไปถึงแขนและปลายเล็บ รู้สึกมีอาการปวดมวนเป็นก้อนๆ ตลอดเวลา จึงไปรักษากับหมอที่โรงพยาบาลเอกชนอยู่พักหนึ่ง

หมอบอกว่า ต้องผ่าตัดกระดูกคอ เพราะกระดูกคอไปทับเส้นประสาท หลังจากผ่าตัดแล้วเวลาก้มจะปวดชาทั้งคอถึงหลังเลย หมอแนะนำให้เอาน้ำร้อนประคบแล้วเอาครีมมานวด

เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานี้ก็เริ่มเป็นอีกแล้วค่ะ มีอาการปวดแขนตรงบริเวณข้อไหล่ ปวดมวนเป็นก้อน ยกมือไม่ขึ้น จึงตัดสินใจไปหาหมอที่คลินิกแถวบ้าน หมอบอกว่า ต้องฉีดยาเข้ากระดูกเพราะเอ็นอักเสบ ดิฉันจึงยอมให้ฉีด 1 เข็ม

หลังจากนั้นอาการก็หายบ้างเหมือนกัน ทำงานได้บ้าง หลังจากฉีดยาแล้ว 15 วัน อาการปวดก็กลับเป็นเหมือนเดิม และยิ่งปวดมวนหนักมากกว่าเดิม ร้าวไปถึงกระดูก ดิฉันคิดว่าอาจจะเป็นเพราะครั้งที่ไปฉีดยาที่คลินิก เพราะครั้งนั้นฉีดเข้าถึงกระดูก และที่สำคัญเข่าทั้งสองข้างก็เริ่มปวดบ้างและมีอาการตึงไปหมดเช่นเดียวกัน

คุณหมอที่ตรวจดิฉันบอกว่า ทุกข้อในร่างกายเริ่มเสื่อมแล้ว ดิฉันไม่ทราบว่าคนทุกคนที่มีอายุเท่านี้จะเป็นเหมือนดิฉันบ้างหรือเปล่า แม่ของดิฉันอายุ 70 กว่าแล้วยังไม่มีอาการเหมือนดิฉันเลย ยังเดินได้ดี และไม่เคยปวดข้อมากๆ แบบดิฉันเลย

ทุกวันนี้พอมีเวลาว่างก็จะออกกำลังกาย โดยเดินวันละประมาณ 3 กิโลเมตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือถ้าไม่ได้เดินก็จะออกกำลังกายที่บ้าน เช่น นอนยกขาขึ้นลงข้างละ 100 ครั้ง

ดิฉันอยากทราบว่าทำไมคนเราเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปแล้วจึงกระดูกเสื่อม ข้อเสื่อม จะเป็นทุกคนเลยใช่หรือเปล่าคะ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้ข้อหรือกระดูกเสื่อมได้ ดิฉันจะได้ไปสอนลูกๆ ให้ป้องกันเอวไว้ค่ะ

ตอบ
ที่จริงแล้ว กระดูกและข้อรวมทั้งเส้นเอ็นจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมตั้งแต่อายุ 25 ปีเป็นต้นไป หรือพ้นเบญจเพส วิธีที่จะป้องกันหรือชะลอความเสื่อมที่ดีที่สุด คือ การออกกำลังกาย บริหารข้อและกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเป็นประจำทุกวัน เช่น การเต้นแอโรบิก การทำท่าหัดพละในคนอายุต่ำกว่า 50 ปี หรือการรำมวยจีนหรือว่ายน้ำในคนอายุเกิน 50 ปี เป็นต้น โดยต้องออกกำลังกายให้เหงื่อออก และชีพจรเต้นเร็วขึ้นจนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อยประมาณวันละ 20-30 นาที

ถาม
ปัจจุบันนี้ ดิฉันปวดข้อไหล่มาก ปวดมวนร้าวถึงแขน เอาน้ำร้อนประคบและนวดยาแล้ว ยังไม่ดีขึ้น ไม่ทราบว่า จะมีวิธีที่ดีกว่านี้หรือไม่ อยากหายเร็วๆ ค่ะ มันทรมานมาก

ตอบ
คุณควรจะไปหาหมอคนเดิมตรวจดูใหม่ เพื่อให้ได้วินิจฉัยว่า สาเหตุการปวดครั้งนี้เกิดจากเอ็นอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ หรือปวดร้าวจากกระดูกกดทับถูกเส้นประสาท ฯลฯ การวินิจฉัยที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะทำให้การวางแผนการรักษาถูกต้องได้

ถาม
เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันดูรายการหนึ่ง บอกว่าการฝังเข็มเป็นวิธีหนึ่งที่รักษาหายได้ คุณหมอเชื่อหรือเปล่าคะ แล้วการฝังเข็มดีอย่างไร ถ้าดีคุณหมอกรุณาแนะนำโรงพยาบาลที่จะรักษาด้วยค่ะ

ตอบ
การฝังเข็มเพื่อรักษา จะได้ประโยชน์ในรายที่อาการปวดไม่ได้เกิดจากการอักเสบ หรือเส้นประสาทถูกกดทับ ดังนั้นก่อนจะไปรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม ควรปรึกษาหมอคนที่ตรวจรักษาคุณว่าจะได้ประโยชน์หรือมีผลเสียใดๆ หรือไม่ มิฉะนั้นคุณอาจจะเสียเวลา หรือยิ่งทำให้โรคเรื้อรังมากขึ้น ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีฝังเข็มแก้ปวด เช่น ที่แผนกฝังเข็ม โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น

ถาม
ดิฉันเคยอ่านหนังสือบอกว่า ผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน มักจะมีอาการกระดูกเสื่อม คุณหมอว่าจริงไหมคะ ถ้าไม่จริงเพราะเหตุใด เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการทางอาหารมีส่วนด้วยหรือไม่ เช่น ต้องกินอาหารที่มีแคลเซียมมากๆ จะทำให้กระดูกดีจริงหรือไม่ อยากให้แนะนำด้วยค่ะ

ตอบ
หญิงที่ใกล้หมดหรือหมดประจำเดือน กระดูกต่างๆ มักจะบางลงตามวัยที่สูงขึ้น แต่หากคุณกินอาหารครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอดังกล่าวไว้ในข้อ 1 กระดูกก็จะเสื่อมช้าลง การกินแคลเซียมจะมีประโยชน์เฉพาะในรายที่พบว่า กระดูกบางลงเนื่องจากผู้ป่วยขาดแคลเซียมเท่านั้น ในคนที่ไม่ได้เป็นโรคขาดแคลเซียมจากอาหาร การกินแคลเซียมก็ไม่ได้ประโยชน์

ถาม
การออกกำลังกายที่กล่าวมายังไม่ดีพอ เพราะไม่ได้เคลื่อนไหวข้อต่อและกล้ามเนื้อทุกส่วน (ดูข้อ 1) แต่ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย อีกประการหนึ่ง จากส่วนสูงของคุณ คุณควรจะมีน้ำหนักไม่เกิน 55 กิโลกรัม การพยายามลดน้ำหนักส่วนเกินและการออกกำลังกายโดยวิธีบริหารร่างกาย (รายละเอียดดูได้จากหนังสือคู่มือชุดรักษาปวดข้อของหมอชาวบ้าน) จะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีกว่านี้แน่นอน