• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เหงือกร่น

ไม่ติดตัวฟันเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีป้องกันและแก้ไขอย่างไร

ถาม
ผมอายุ 22 ปี ถอนฟันไปแล้ว 3 ซี่ เป็นฟันกรามทั้งหมด เพราะเมื่อก่อนฟันผุและปวดมาก ถอนมาหลายปีแล้ว ยังไม่ได้ใส่ฟันปลอม

ผมเคยอุดฟันหลายจุด ทั้งฟันหน้าและฟันกราม เคยอุดซ้ำฟันหน้าเพราะที่อุดหลายปีแล้วหลุดไป ใช้ยาแก้ปวดนิดหน่อยหลังถอนฟัน ไม่เคยแพ้ยาชนิดใดเลย

ขอเรียนถามว่า
1. การที่เหงือกร่น ไม่ติดกับตัวฟัน เกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีป้องกันและแก้ไขอย่างไรบ้าง
2. เราควรให้ทันตแพทย์ขูดหินปูนแต่ละครั้ง เว้นระยะนานเท่าใดครับ
3. ฟันกรามของผมถอนไป 3 ซี่ คุณหมอคิดว่าต้องใส่ฟันปลอมไหม ถ้าไม่ใส่จะเกิดผลเสียอย่างไรครับ
4. ข้อนี้ขอให้คุณหมอกรุณาตอบให้กระจ่างด้วย คือ ฟันกรามล่างของผมยื่น (ขากรรไกรยื่น) ทำให้ฟันล่างยื่นพ้นฟันบน ทำให้มีใบหน้ายื่นยาว เวลายิ้มจะน่าเกลียดจนเพื่อนล้อ เวลาเคี้ยวอาหารก็เหมือนคนแก่ ผมจึงอยากผ่าตัด จึงต้องการรู้กระบวนการผ่าตัดคร่าว ๆ และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสักเท่าไร โรงพยาบาลรัฐกับเอกชนแตกต่างกันอย่างไรและคลินิกทั่วไปจะทำได้ไหมครับ
ชัยวุฒิ/กรุงเทพฯ

ตอบ
1. ถามว่าเหงือกร่น ไม่ติดกับตัวฟัน ผมขอเดาว่า คุณคงหมายถึงขอบเหงือกที่ปกติจะคลุมรากฟัน และเกาะถึงคอฟัน เหงือกปกติจะมีสีชมพูอ่อน บาง(ไม่บวม) แหลมขึ้นไปปิดระหว่างซี่ฟัน ไม่มีอาการเลือดออกง่าย

                                             

เมื่อใดก็ตามที่มีสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นที่เหงือก จะมีการบวม แดง เลือดออกง่าย แล้วลุกลามลงสู่กระดูกที่หุ้มรากฟัน ทำให้เกิดการละลายยุบตัวลง เหงือกที่จับคลุมอยู่ก็ร่นต่ำลงด้วย ทำให้เห็นตัวฟันลอยพ้นเหงือกหรือรากฟันปรากฏพ้นขอบเหงือกขึ้นมา

สาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่
1. การมีคราบแบคทีเรียจับอยู่มาก เนื่องจากการแปรงฟันรักษาความสะอาดไม่ดี โดยเฉพาะบริเวณคอฟันใกล้ขอบเหงือก ทุก ๆ ด้าน
2. การมีหินปูนจับพอกบริเวณคอฟันอยู่นาน ๆ บางครั้งหินปูนก็ลงไปอยู่ลึก ๆ ใต้ขอบเหงือก
3. การแปรงฟันผิดวิธี หรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป ทำอันตรายกับเหงือก ซึ่งอ่อนแอ
4. การอุดฟัน ครอบฟัน ที่ขอบของวัสดุไม่เรียบกลืนไปกับผิวฟันตามปกติ จะส่งเสริมให้มีการติดขังของความสกปรก ทำให้เหงือกอักเสบ
5. สาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้ไม้จิ้มฟันบ่อยๆ ฟันซ้อนเก เป็นต้น

การป้องกันและวิธีแก้ไข
1. รักษาความสะอาด และสุขภาพของฟันให้ดี
2. กำจัดหินปูนออก และตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
3. แปรงฟันให้ถูกวิธี โดยแปรงขนไม่แข็ง และใช้เส้นใยไนล่อนร่วมด้วย
4. แก้ไขฟันที่อุด หรือครอบไว้ไม่ดี ให้อยู่ในสภาพดี
5. ถ้าฟันซ้อนเก ก็จัดฟันแก้ไข เลิกนิสัยใช้ไม้จิ้มฟัน

2. ตอบแล้วครับ แต่ในรายที่สังเกตได้ว่า มีการเกิดของหินปูนเร็ว ในเวลาไม่นาน ก็อาจพบทันตแพทย์บ่อยกว่านั้นครับ

3. การใส่ฟันปลอม สำหรับฟันกรามหลัง วัตถุประสงค์ก็เพื่อการเสริมประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว
ฉะนั้น ถ้าตำแหน่งที่ถอนฟันไป มีผลในการบดเคี้ยว ควรต้องใส่ฟันครับ
ผลเสีย ถ้าไม่ใส่ฟันปลอมที่พบได้บ่อยๆได้แก่
3.1 ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวลดลง
3.2 ถ้าฟันคู่สบที่ตรงกันเป็นฟันบน นานๆไปมักจะยื่นลงมามากกว่าระดับปกติ ทำให้การเคลื่อนของขากรรไกรในขณะบดเคี้ยวผิดปกติ เพราะฟันบางตำแหน่งยื่นลงมาล็อกไว้ นานๆเข้า จะเป็นอันตรายต่อข้อต่อขากรรไกร (หน้าหู) เกิดเสียงดังกริ๊ก หรือเจ็บ หรือเกิดขากรรไกรค้างได้ และถ้านานไป หากต้องการจะใส่ฟัน ก็จะทำได้ไม่ดีพอ

                                              

3.3 ฟันจะห่าง เกิดช่องว่างระหว่างซี่ฟัน บริเวณฟันหน้าได้ เพราะธรรมชาติของฟันจะเคลื่อนล้มเข้าหาช่องว่าง
3.4 ฟันที่ล้มเข้าหาช่องว่างจะทำความสะอาดยาก เกิดโรคเหงือกได้

4. นับว่าคุณคิดถูก ที่เข้าใจว่าฟันและขากรรไกรมีความสัมพันธ์อย่างสำคัญต่อกัน เรามีคนไข้ที่มีปัญหาเช่นคุณหลายราย บางส่วนมุ่งพิจารณาแต่รูปหน้า ควรเข้าใจความสำคัญของฟันและการบดเคี้ยวจนทำให้เกิดปัญหา

โดยทางวิชาการที่ถือปฏิบัติของทันตแพทย์ ที่ชำนาญทางด้านศัลยกรรมช่องปาก และแมกซิไลเพเชียล (กระดูกใบหน้าและขากรรไกร) การแก้ไขช่วยเหลือคนไข้พวกนี้ เราจะทำงานร่วมกับหมอจัดฟัน หลังจากทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดจากแบบจำลองฟัน ภาพถ่ายเอกซเรย์ และตัวคนไข้

จากนั้นเราจะวาดแบบจริงให้คนไข้ดูว่า เมื่อรักษาและผ่าตัดแล้ว ผลที่ได้จะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อผ่าตัดเปลี่ยนตำแหน่งกระดูกขากรรไกร ตำแหน่งฟันทั้ง 28-32 ซี่ก็เปลี่ยนด้วย ซึ่งจะสามารถสบกันในตำแหน่งใหม่ได้ดี ผลจึงจะดี และคงที่ตามแผน รูปหน้าจะดีขึ้นมากแน่ และฟันก็เคี้ยวอาหารได้อย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย
การผ่าตัดกระทำได้ทั้งในปากหรืออาจมีแผลเล็ก ๆ นอกปากก็ได้แล้วแต่วิธี

ค่าใช้จ่าย ผมแนะนำว่า ควรปรึกษาผู้ชำนาญเฉพาะทางโดยตรงจะดีกว่า เพราะขึ้นอยู่กับว่า ขั้นตอนการจัดฟัน หรือการผ่าตัดวิธีใดนะครับ

การผ่าตัด จะทำในโรงพยาบาล ในคลินิกทั่วไปทำไม่ได้
สถานที่ที่คุณจะติดต่อปรึกษาได้ คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ต่าง ๆ หรือศูนย์ศัลยกรรมช่องปากและแมกซิไลเพเชียลครับ
ทพ.ณรงค์ ลุมพิกานนท์