หัดเยอรมัน
ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย โรคที่ทำให้ผู้ใกล้ชิดหรือผู้สัมผัสโรคมีอาการ “ประสาทผวา” ได้มากที่สุด ก็เห็นจะได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า กับโรคหัดเยอรมัน
ในโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าผู้สัมผัสโรคได้รับเชื้อ เกิดป่วยมีอาการขึ้นมา ก็หมายถึงชีวิตกำลังจะสิ้นสุดลงอย่างน่าอนาถใจ โดยหาหมอเทวดาที่ไหนมาช่วยก็ไม่ได้
ส่วนโรคหัดเยอรมัน (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เหือด”) นั้น ถ้าเกิดกับเด็กหรือคนทั่ว ๆ ไป ก็ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่อย่างใด ผู้ที่รับเชื้ออาจมีอาการของโรคชัดเจน หรือมีอาการอ่อน ๆ หรือไม่แสดงอาการอะไรเลยก็ได้ แล้วก็จะค่อย ๆ หายไปได้เองในเวลาไม่กี่วัน
แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ถ้าเผอิญหญิงที่กำลังตั้งท้องเกิดได้รับเชื้อหัดเยอรมันเข้า (ซึ่งต่อมาจะมีอาการเป็นไข้ร่วมกับมีผื่นขึ้น หรือไม่มีอาการอะไรปรากฏให้เห็นเลยก็ตาม) เชื้อจะผ่านรกเด็กไปยังเด็กในท้อง มีผลต่อการเพิ่มจำนวนชองเซลล์ที่จะเจริญเป็นอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะเหล่านี้ เป็นเหตุให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้
ถ้าลูกรักจะต้องเกิดมาพิกลพิการ เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นโรคหัวใจ สติปัญญาทราม พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง จะต้องทนทุกข์ไปกับหนูน้อยเพียงใด
เราจะมีวิธีแก้ไขหรือป้องกันอย่างไร
ขอเล่าตัวอย่างเรื่องจริงให้ฟังสัก 2-3 ราย
รายแรก
เหตุเกิดเมื่อ 11 ปีก่อน ระยะนั้นโรคหัดเยอรมันยังไม่รู้จักกันแพร่หลายในบ้านเรา
คุณครูธิดา เป็นครูสอนในโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่ง เธอเพิ่งแต่งงานได้ 6 เดือนต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.
2511 นักเรียนกำลังใกล้สอบไล่ คุณครูต้องดูแลเอาใจใส่เด็กใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เด็กในห้องเกิดมีไข้และมีผื่นเล็ก ๆ ขึ้นทั้งตัวคล้ายผด บางคนก็คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นเป็นลูกหนูแถวหลังคอหรือท้ายทอย บางคนก็บ่นปวดข้อ หยุดเรียนไป แต่หลายคนไม่หยุดเพราะใกล้สอบเต็มที
พอถึงกลางเดือน คุณครูเองก็เกิดมีไข้ขึ้นตอนเย็น เช้าวันรุ่งขึ้นมีผื่นขึ้นทั้งตัว และแวดข้อเป็นอยู่ 4 วันผื่นก็จาง อาการต่างๆ ทุเลาลงจนเป็นปกติ แต่ประจำเดือนซึ่งครบรอบจะมาเกิดขาดหายไป หมอตรวจพบว่าเธอเริ่มตั้งท้องลูกคนแรกนั่นเอง
เพราะเป็นลูกคนแรก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และพี่ป้าน้าอาทั้งหลาย ต่างตื่นเต้นรอคอย แนะนำให้ฝากท้องกับสูติแพทย์ที่มีชื่อเสียง หมอตรวจเลือด และให้คำแนะนำอย่างดี
แต่เรื่องหนึ่งที่เธอลืมเล่าให้หมอฟังไปก็คือ เรื่องไข้มีผื่นที่เธอเป็นและเพิ่งจะหายไปหยกๆ เพราะคิดว่าไม่มีอะไรสำคัญ
แล้ววันที่รอคอยก็มาถึง แต่ความสุขแปรเป็นความเศร้า ลูกสาวของเธอตัวเล็กกว่าปกติต้องเข้าตู้อบ ตาเห็นเป็นจุดขาวซึ่งหมอบอกว่าเป็นต้อกระจก ตัวเขียวเป็นครั้งคราวเนื่องจากผนังกั้นห้องหัวใจไม่สมบูรณ์ และตามผิวหนังมีจ้ำเลือดออก ลูกต้องอยู่โรงพยาบาลเกือบ 2 เดือนจึงได้กลับบ้านอย่างไม่แข็งแรง คุณครูต้องพาลูกไปหาหมอที่โรงพยาบาลทุกเดือน แถมบางเดือนก็ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากตัวเขียว บางครั้งมีอาการชักเกร็ง จนกระทั่งลูกอายุได้ 3 ขวบก็ยังพูดไม่ได้และช่วยตัวเองไม่ได้
หมอบอกว่า เด็กเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ไม่มีทางที่จะรักษาให้เป็นปกติ ได้แต่รักษาบรรเทาอาการเท่านั้น เช่น ผ่าตัดช่วยแก้ไขตาและหัวใจเมื่อเด็กโตพอทนการผ่าตัดได้
คุณครูธิดาร้องไห้สงสารลูกเสียหลายพัก บาปเคราะห์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ของเธอ ลูกไม่ควรจะต้องเกิดมาทนทุกข์ทรมานอย่างนี้
ถ้าบอกหมอที่ฝากท้องเสียแต่แรก หมอก็คงจะช่วยเธอได้โดยเอาทารกออกเสียก่อนที่ชีวิตน้อยๆ จะ ต้องเผชิญกับความทรมานเมื่ออกมาสู่โลกภายนอก
รายที่ 2 ก็คือ ลูกอ๊อดที่ตามองไม่เห็น
ลูกอ๊อดเป็นลูกคนที่ 4 เกิดเมื่อเดือนธันวาคม 2522 นี่เอง เมื่อแม่เริ่มตั้งท้องลูกอ๊อดใหม่ๆ แม่มีอาการเป็นไข้และมีผื่นขึ้น ซึ่งติดต่อมาจากลูกๆ
แม่ลูกอ๊อดมาฝากท้อง เมื่อตั้งท้องเดือนที่ 5 เพราะวางใจว่าเป็นท้องหลังๆ อย่างไรก็ดี แม้ได้เล่าเรื่องไข้ผื่นขึ้นให้หมอที่ฝากท้องฟัง หมอไม่แน่ใจว่าแม่จะเป็นหัดเยอรมันจริงหรือเปล่า จึงส่งมาเจาะเลือด ตรวจดูแอนติบอดี้ (ภูมิคุ้มกัน) ต่อโรคหัดเยอรมัน ผลการตรวจเลือดบ่งว่า เธอเคยเป็นหัดเยอรมันมาแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นเมื่อไร เมื่อมานับวันสุดท้ายที่ขาดประจำเดือน ปรากฏว่าแม่เป็นไข้และมีผื่นขึ้นก่อนวันที่ไข่ถูกผสม 4 วัน
หมอถามแม่ว่า จะเอาเด็กออกหรือไม่
แต่ลูกอ๊อดก็โตจนดิ้นให้แม่รู้หลายครั้ง หมอเองก็ยืนยันไม่ได้ว่า แม่เป็นโรคหัดเยอรมันเมื่อ 5 เดือนก่อนจริงหรือไม่ เนื่องจากแม่มาเจาะเลือดตรวจช้า แม่จึงตั้งใจเสี่ยงท้องต่อไป
ลูกอ๊อดโชคร้าย แต่ยังไม่มากนัก เพราเมื่อคลอดลูกอ๊อดมีน้ำหนัก 2500 กรัม ตาเป็นจุดขาวมองไม่เห็นทั้งสองข้าง แต่ก็ไม่มีอาการอื่นๆ
จักษุแพทย์กำลังรอเวลาให้ลูกอ๊อดโตพอที่จะทนต่อการดมยาผ่าตัด เพื่อจะเอาเลนส์ (แก้วตา) ที่เป็นต้ออก ในอนาคตลูกอ๊อดจะต้องใส่แว่นตาไปตลอดชีวิต
เวลานี้ทุกคนกำลังเอาใจช่วยขอให้ลูกอ๊อดแข็งแรงเป็นปกติ อย่ามีอาการผิดปกติอื่นๆ มาแทรกซ้อน
ลูกหนูหูตึง คือคนไข้รายที่ 3 ลูกหนูเป็นลูกชายที่พ่อแม่คอยมาถึง 7 ปี แม่จึงตั้งท้อง เมื่อแม่ตั้งท้องได้เกือบ 4 เดือน ก็มีอาการไข้และมีผื่นขึ้นโดยไม่ทราบว่าติดจากใคร แม่ตกใจรีบมาหาหมอทันที หมอเจาะเลือดไว้และนัดให้มาเจาะเลือดครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ต่อมา จากนั้นจึงนัดให้มาฟังผลการตรวจเลือดทั้ง 2 ครั้ง
ผลการตรวจยืนยันว่า แม่เป็นหัดเยอรมันแน่ แต่แม่ท้องเกือบ 4 เดือน อันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อกับลูกมีไม่มากนัก ในต่างประเทศรายงานว่า พบน้อยกว่าร้อยละ 10
พ่อกับแม่รอลูกหนูมาถึง 7 ปี จะให้เอาออก แม่คงทนไม่ได้ จึงตัดสินใจเสี่ยงมีต่อไป
เมื่อแรกเกิดลูกหนูดูสมบูรณ์ปกติทุกอย่าง แม่มาเอะใจที่ลูกชายพูดช้าเหลือเกิน จน 2 ขวบแล้วก็ยังพูดไม่ได้ ฟังคำสั่งไม่เข้าใจ ต้องออกท่าทางทำมือ ลูกจึงรู้เรื่อง แม่จึงต้องพาลูกไปหาหมอหู (โสตแพทย์) เวลานี้ลูกหนูใส่หูฟังช่วยให้ได้ยินและพูดได้หลายคำแล้ว
ตัวอย่างคนไข้โรคหัดเยอรมันทั้งสามรายนี้
พ่อแม่เป็นผู้มีฐานะค่อนข้างดีและมีการศึกษา เราจึงสามารถติดตามทารกที่คลอดออกมาได้ ผู้เขียนเชื่อว่าทารกที่พิการ เนื่องจากเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดจะต้องมีมากกว่านี้แน่นอน แม่จำนวนไม่น้อยที่ติดเชื้อหัดเยอรมันแล้วไม่ได้มาตรวจ หลาบรายมาตรวจ แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากมีปัญหาขาดความรู้ความเข้าใจและปัญหาทางการเงิน
แม่ที่น่าสงสารเหล่านี้ คงจะต้องทนทุกข์กับลูกน้อยของเธอมากบ้างน้อยบ้าง หลายรายที่โชคดี การติดเชื้อต่อทารกรุนแรงจนเกิดการแท้งไปเอง ทารกบางรายก็ตายตอนคลอด แต่บางรายโรคไม่รุนแรงจนทำให้เด็กเสียชีวิตทันทีทันใด เด็กจึงเกิดมาพร้อมกับความพิกลพิการ มีชีวิตเป็นภาระของครอบครัวและสังคมอยู่นาน
เราควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโรคหัดเยอรมัน
ผู้เขียนขออธิบายโดยขอยกคำถามของคุณครูธิดา และคำตอบที่หมอพอจะบอกได้ เวลานี้มาแสดงก็แล้วกันนะคะ
⇒ หมอคะ ดิฉันเคยมีไข้และมีผื่นขึ้นตอนเด็ก ๆ คุณแม่บอกว่า เคยออกหัด ตอนท้องดิฉันจะเป็นโรคหัดเยอรมันอีกได้ไหมคะ
• เป็นได้ค่ะ เพราะโรคหัดกับโรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อโรค ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสคนละตัวกัน โดย
ทั่วไป พวกเราจะรู้จักโรคหัดได้ดี เพราะมีอาการค่อนข้างชัดเจน โรคหัดมีอาการไข้ ไอ ตาแดง ตาแฉะนำมาก่อนสัก 3 วัน แล้วจึงจะมีผื่นขึ้นให้เห็น ผื่นของหัดจะต่างจากโรคอื่น คือเมื่อเริ่มขึ้นจะเป็นเม็ดเล็กสีแดง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น ทำให้ดูตัวลายกระดำกระด่าง ราว 2 อาทิตย์จึงจะลอกเป็นขี้ไคลหมด เห็นผิวหนังกลับเป็นปกติ
⇒ แล้วอาการของโรคหัดเยอรมันล่ะคะ
• โรคหัดเยอรมันมักมีอาการไม่ใคร่ชัดเจน ส่วนมากจะพบมีไข้นำมาก่อนราว 1 วันแล้วจึงมีผื่น
เล็ก ๆ คล้ายผดขึ้น ผื่นขึ้นสัก 2-3 วันก็จางหายไปหมด บางคนจะพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณท้ายทอย โตคลำพบได้ แต่ก็มีหลายรายที่มีอาการไม่ชัดเจน หรือไม่มีอาการ
⇒โรคหัดเยอรมันติดต่อทางไหนคะ
• ติดต่อทางการหายใจ เชื้อจะออกมาในน้ำมูก น้ำลาย เป็นละอองฝอยในอากาศ ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้ม
กัน หายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไปก็จะติดเชื้อ เกิดโรคได้
⇒ ลูกคนแรกของดิฉันพิการค่ะ หมอบอกว่าเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ดิฉันเองก็จำได้ว่าตอนเริ่มตั้งท้องดิฉันเป็นไข้ ออกผื่นแต่ก็ไม่ได้สนใจ ดิฉันยังไม่กล้ามีลูกอีกค่ะ กลัวจะเป็นเหมือนคนแรก
• ถ้าลูกคนแรกเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ก็แสดงว่าคุณเคยติดเชื้อหัดเยอรมันมาแล้ว จะมีภูมิ
คุ้มกัน ทำให้ไม่ติดเชื้ออีก ถ้าจะให้แน่ใจก็ลองเจาะเลือดตรวจดูซิคะ ถ้าตรวจพบภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ก็แสดงว่า คุณจะไม่เป็นอีก ลูกคนต่อมาของคุณก็จะปลอดภัยจากการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดแน่นอน
⇒ หมอคะ ถ้าตอนที่ฝากท้อง ดิฉันเล่าให้หมอฟัง หมอจะช่วยรักษาหรือป้องกันให้ลูกได้ไหมคะ
• ถ้าตอนฝากท้องคุณเล่าให้หมอฟัง หมอก็คงเจาะเลือดตรวจยืนยันว่า คุณเป็นโรคหัดเยอรมันจริง
และถ้าเป็นตั้งแต่ท้องระยะ 3 เดือนแรก ทารกในท้องจะมีโอกาสพิการได้ตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 50 หมอจึงมักแนะนำให้เอาเด็กออกโดยการทำแท้งให้ แต่ถ้าเป็นหัดเยอรมันเมื่อตั้งท้องเกิน 3 เดือนไปแล้ว อันตรายต่อทารกในท้องจะน้อยลงมาก การจะเอาเด็กออกหรือไม่ จึงอยู่ในดุลยพินิจของหมอและแม่กับพ่อโดยมากถ้าเกิน 6 เดือนไปแล้วหมอมักจะไม่เอาเด็กออกให้ เพราเด็กโต โอกาสจะเกิดความพิการมีน้อย
⇒ถ้าแม่เป็นโรคหัดเยอรมัน ลูกจะต้องพิการทุกคนไหมคะ
• ไม่ทุกคนค่ะ ถ้าแม่เป็นหัดเยอรมันตอนท้อง 3 เดือนแรก จะพบทารกพิการได้สูงถึงร้อยละ 50
แต่หลังจากนั้นจะพบน้อยลง ในแม่ที่เป็นโรคหัดเยอรมัน จะพบว่ามีการแท้ง หรือเด็กตายตั้งแต่อยู่ในท้องจำนวนไม่น้อย
⇒เด็กที่เป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด จะแพร่เชื้อให้กับคนใกล้ชิดหรือไม่
• เด็กพวกนี้จะปล่อยเชื้อออกมากับน้ำมูก น้ำลาย หรือปัสสาวะได้เป็นเวลานาน ดังนั้นจึงต้องระวังไม่ให้หญิงที่ตั้งท้องใกล้ชิดเด็กพวกนี้ เพราอาติดเชื้อได้
⇒น้องสาวดิฉันกำลังจะแต่งงานเดือนหน้านี้ค่ะ อยากขอคำแนะนำจากหมอเกี่ยวกับการป้องกันโรคหัดเยอรมัน
• คิดว่าควรจะตรวจเลือดเสียก่อนค่ะ ดูว่ามีแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วก็สบาย
ใจได้ว่าจะไม่เป็นอีก แต่ถ้ายังไม่มีก็ควรฉีดวัคซีนป้องกัน ถ้าจะฉีดวัคซีนกันโรคหัดเยอรมัน ก็จะต้องคุมกำเนิดไว้อย่างน้อย 2 เดือน
⇒ ค่าตรวจเลือดแพงไหมคะ
• การตรวจเลือดทำได้ในโรงพยาบาลบางแห่ง ส่วนใหญ่เก็บประมาณ 100 บาท
⇒ แล้วถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน ต้องฉีดวัคซีน จะมาฉีดที่โรงพยาบาลได้ไหมคะ ราคาวัคซีนเท่าใดคะ
• ฉีดที่ไหนก็ได้ค่ะ แต่วัคซีนป้องกันหัดเยอรมันที่มีใช้ในบ้านเรา เป็นวัคซีนรวมกับวัคซีนหัดและ
คางทูมหรือรวมกับคางทูมอย่างเดียว ราคาประมาณ 160 บาท
⇒ โอ้โฮ แพงนะคะ
• แพงมากค่ะ ทั้งค่าตรวจเลือดและวัคซีน ถ้าเป็นไปได้ เราเป็นหัดเยอรมันเสียตั้งแต่เด็กหรือก่อน
แต่งงานก็จะดี มีคนแนะนะว่า ถ้าลูกใครเป็นหัดเยอรมัน ควรจะให้ลูกขวนเพื่อนๆ มากิน มาเล่น มานอน ให้ติดเชื้อไปเสียเลย จะได้ไม่ต้องเป็นคอนเป็นสาว ฝรั่งเรียกว่า “ปาร์ตี้หัดเยอรมัน” หรือ “งานหัดปาร์ตี้สังสรรค์” (Rubella party)
⇒ ลูกสาว เพื่อนดิฉันอายุสักขวบครึ่ง เห็นหมอบอกว่าฉีดเอ็ม เอ็ม อาร์ (MMR) ให้ไม่ทราบวัคซีนอะไร
• เอ็ม เอ็ม อาร์ เป็นวัคซีนรวมสำหรับป้องกันหัด หัดเยอรมัน และคางทูม อันนี้ละที่ว่าราคา 160
บาท
⇒ แล้วจะป้องกันหัดเยอรมันตอนโตได้ไหมคะ
• ได้ค่ะ แต่ก็คงจะไม่ถึงร้อยละร้อย เพราะบางคนอาจจะมีภูมิคุ้มกันลดต่ำลงมาเมื่อโตขึ้น
⇒ดิฉันคิดว่า อยากจะเจาะเลือดตรวจวันนี้ และถ้าหมอรับรองได้ว่า ดิฉันจะไม่เป็นหัดเยอรมันอีกดิฉันอยากมีลูกที่แข็งแรงอีกสักคนค่ะ
• เจาะที่นี่ก็ได้ค่ะ แล้วหมอจะจัดการส่งไปตรวจ อีกสัก 2 อาทิตย์ก็มาฟังผล
ก่อนจะจบ ขอสรุปเรื่องน่ารู้ของโรคหัดเยอรมันสักนิดนะคะ
โรคหัดเยอรมัน จะก่อให้เกิดความพิการแก่ทารกในท้องได้ ยังมารดาเป็นโรคหรือมีการติดเชื้อในระยะที่ตั้งท้อง โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก
การวินิจฉัยโรคหัดเยอรมันที่แน่นอน จะต้องอาศัยการตรวจเลือด ถ้าเป็นไข้ออกผื่น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดเสียตั้งแต่แรก และเจาะเลือดครั้งที่สองห่างจากครั้งแรกสัก 7 วัน เพื่อเปรียบเทียบดูระดับแอนติบอดี้ ถ้าเจาะเลือดช้าเกินไป จะวินิจฉัยไม่ได้แน่นอน
ในระยะตั้งท้อง ควรระวัง อย่าเข้าใกล้ชิดกับผู้ที่มีไข้หรือผื่น ซึ่งก็คงจะทำได้ยาก เพราะในระยะที่มีโรคระบาด ซึ่งจะพบในช่วงเดือนมกราคม ถึงเมษายน เกือบทุกปี จะมีผู้ติดเชื้อแพร่โรคจำนวนไม่น้อยทั้งที่มีอาการและไม่แสดงอาการ
ถ้าเผอิญสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีไข้มีผื่น ควรจะรีบมาเจาะเลือดดู โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าพบว่าในเลือดมีแอนติบอดี้อยู่แล้ว ก็แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อมาก่อน จะไม่เป็นโรคนี้อีก แต่ถ้ายังไมมีแอนติบอดี้ จะต้องมาเจาะเลือดอีกครั้งหนึ่ง หลังสัมผัสโรคนาน 1 เดือน ถ้าไม่พบแอนติบอดี้ในเลือดทั้ง 2 ครั้งก็แสดงว่าไม่เป็นโรค แต่ถ้าเจาะเลือดครั้งแรกไม่มีแอนติบอดี้ แต่ตรวจพบได้ในเลือดครั้งที่ 2 ก็แสดงว่าติดเชื้อหัดเยอรมัน อย่างไรก็ดีในผู้ที่ตรวจเลือดครั้งแรก มีแอนติบอดี้แล้ว ควรตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งในเวลา 7-14 วันต่อมา ถ้าระดับแอนติบอดี้คงเดิมก็ไว้ใจได้ว่าจะไม่เป็นอีก
ถ้าคุณสงสัยว่ามีท้อง หรือท้องไม่เกิน 3 เดือน เมื่อมีไข้ มีผื่น หรือสัมผัสกับลูก หรือเพื่อนหรือคนที่มีอาการไข้ มีอาการผื่น โปรดรับการเจาะเลือดตรวจโดยเร็วที่สุด เพราะสูติแพทย์มักจะไม่รักษาโดยการทำแท้งให้ นอกจากจะมีข้อยืนยันที่แน่ชัด
การจะบอกให้แน่ชัด จะต้องเจาะเลือดตรวจให้ถูกเวลาเท่านั้น
ห้องปฏิบัติการที่จะตรวจเลือด วินิจฉัยโรคหัดเยอรมันได้ |
1. สถาบันวิจัยไวรัส กรมวิทยาศษสตร์การแพทย์ ยศเส
2. ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
3. ภาควิขาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี
4. ภาควิชาชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
5. ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่
6. ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ค่าตรวจเลือดประมาณ 100 บาท
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเสียค่าตรวจได้ หากมีความจำเป็น ทางห้องปฏิบัติการก็ยินดีที่จะทำการตรวจให้
- อ่าน 12,358 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้