• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กามโรค (ตอนที่ 2 )

กามโรค (ตอนที่ 2 )


แผลและเลือดบวก

 คุณผู้อ่านครับ ในฉบับที่แล้วคุณหมอนิวัติได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของหนองใน และหนองในเทียม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้อ่านอย่างมากมาย สำหรับในฉบับนี้ เราก็จะได้ฟังคุณหมอนิวัติเล่าเรื่องแผลและเลือดบวก ซึ่งมีแง่มุมต่างๆ ที่น่าคิด น่าสนใจมากมายทีเดียว หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า เข้าข้อ, ออกดอก, เลือดบวก หรือ ว่า “ไอ้ฮวบ” จริง ๆ นั้นมันเป็นอย่างไร ทำไมถึงได้เกิดขึ้น จะป้องกันได้อย่างไร รักษาหายไหม และเมื่อใดที่ว่าสายเสียแล้ว คำตอบเหล่านี้มีอยู่ในฉบับนี้แล้วครับ

⇒ อย่างไรจึงเรียกว่า เป็นแผลกามโรค
แผลที่อวัยวะเพศ ครั้งแรกที่ต้องนึกถึงก็คือ เป็นแผลจากกามโรคหรือเปล่า แผลที่อวัยวะเพศไม่จำ
เป็นจะต้องเป็นแผลจากกามโรคเสมอไป อาจเป็นแผลธรรมดาจากการถูกเล็บข่วน ถูกซิบกางเกง หรือแผลพวกมะเร็งในคนสูงอายุ การวินิจฉัยที่สำคัญในเบื้องแรกนั้นก็คือประวัติการไม่สัมผัสกับคนที่เป็นโรค หรืออาจจะเป็นโรค เช่นหญิงบริการ เสร็จแล้วหลังจากนั้นสักระยะเวลาหนึ่งราวๆ 2-3 สัปดาห์มีแผลขึ้นมา ก็น่าสงสัยว่าเป็นกามโรคไว้ก่อน

 

⇒ แผลและเลือดบวกคืออะไร
แผลในที่นี้หมายถึง แผลกามโรค เช่น แผลริมอ่อน (Chancroid) แผลจากเชื้อไวรัส (Herpes), แผลเริมและแผลริมแข็ง ซึ่งก็คือ แผลซิฟิลิส หรือที่เรียกกันว่า เลือดบวก

 

⇒ ซิฟิลิส (แผลริมแข็ง) เป็นอย่างไร
ระยะที่ 1 เป็นแผล
แผลซิฟิลิสเป็นแผลที่ไม่เจ็บ ตอนแรกจะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ แล้วขยายออกตรงกลางก็จะกลายเป็นแผล ข้าง ๆ มักจะเป็นขอบนูนแข็ง เรียกว่า แผลริมแข็ง แผลนี้เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ หัวเหน่า ขาหนีบ ทวาร หรือริมฝีปากก็ได้ ระยะฟักตัวของแผลซิฟิลิสใช้เวลานานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ หลังจากไปรับเชื้อมา และอาการหลังจากเป็นแผล 2 สัปดาห์ก็จะมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่ขาหนีบ โตไม่มากและก็ไม่เจ็บ การตรวจเลือดในระยะที่ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบเลือดบวก ถ้าหากตรวจพบเลือดบวกและมีอาการดังกล่าวก็เกือบ 100% เป็นโรคซิฟิลิส

ระยะที่ 2 เข้าข้อ ออกดอก
ระยะนี้เกิดขึ้นหลังจากระยะแรกประมาณ 6 สัปดาห์ อาจจะมีอาการปวดข้อ มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แขนก็มีได้ ผื่นนี้ไม่คัน บางคนก็อาจมีผมร่วงด้วย ระยะนี้ตรวจเลือดบวกจะพบ หลังจากนั้นผื่นก็จะหายไปเอง เชื้ออาจจะแฝงตัวอยู่นานเป็นปีๆ 5 ปี ถึง 10 ปีก็มี แล้วก็เข้าสู่ระยะที่เกิดการแทรกซ้อนในระบบต่าง ๆ หรือเรียกว่า ระยะทำลาย

ระยะที่ 3 ระยะทำลาย
ระยะนี้เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสเข้าไปสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อาการร้ายแรง เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นอัมพาตซีกหน้า ไขสันหลังเสีย อาการชาปลายเท้า ตามัว ตาบอด หูตึง เสียความรู้สึกในการรับความรู้สึก เวลาเดินจะต้องมองปลายเท้า อาการสมองเสื่อม คือ เป็นคนพิการไป

 

⇒ สาเหตุของการเป็นโรคซิฟิลิส
การเป็นโรคซิฟิลิสเป็นได้ 2 อย่าง คือ อย่างหนึ่งไปรับเชื้อมาจากผู้อื่น คือจากคนที่เป็นโรคซิฟิลิส และอีกอย่างก็เป็นมาแต่กำเนิด คือได้รับจากแม่ ดังนั้น การรับเชื้อมาแต่กำเนิดเราต้องดูประวัติ เช่น พี่ของเราที่คลอดมา ในท้องแรกของแม่เคยมีเสียชีวิตไหม หรือในพี่น้องของเรามีความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น จมูกยุบ, ฟันหยัก, หน้าตาพิการ หรือถ้าจะตรวจเลือดพ่อแม่ด้วยก็ยิ่งดี

 

⇒ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเลือดบวก และจะตรวจเลือดบวกเมื่อไร? ตรวจได้ที่ไหน ?
จะรู้ว่าเป็นเลือดบวกหรือไม่ ก็ต้องตรวจเลือดสำหรับทดสอบเชื้อซิฟิลิสทางห้องปฏิบัติการ เรียกว่า ตรวจ วีดีอาร์แอล (VDRL) การตรวจเลือดที่พบเลือดบวกเพียงครั้งเดียวนั้น เรายังสรุปไม่ได้ว่า เป็นโรคซิฟิลิส เพราะว่า หนึ่ง อาจมีความผิดพลาดของการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สอง เลือดอาจจะบวกจากสาเหตุอื่น เช่น เราอาจไม่สบาย เป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ หรือไปปลูกฝีเกิดการอักเสบ หรือเป็นนิวโมเนียที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจมีเลือดบวกได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสาเหตุอื่นอธิบายว่าเป็นโรคซิฟิลิส การตรวจเลือดซึ่งเป็นเลือดบวกเพียงครั้งเดียวยังสรุปไม่ได้ ควรตรวจเลือดบวกอีกเป็นครั้งที่สอง โรคนี้ระยะฟักตัวของโรคค่อนข้างนาน ทางที่ดีควรจะตรวจเลือดครั้งที่สอง หลังจากตรวจครั้งแรกไปแล้วประมาณ 3 เดือน ในช่วงระหว่างตรวจครั้งแรกกับครั้งที่สองถ้าไปสำส่อนมาอีก ก็ควรนับไปหลังจากวันนั้น 3 เดือน แล้วก็ตรวจอีกครั้ง ถ้าใครส่ำส่อนบ่อย ๆ คือ ทั้งปี ก็ควรจะตรวจทุก ๆ 3 เดือน และก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจทุก ๆ เดือน เพราะตรวจไปก็สูญเปล่าไม่ได้อะไร มันเร็วเกินไปเพราะว่าระยะฟักตัวของเชื้อค่อนข้างนาน

การตรวจเลือดบวกนี้ตรวจได้ตามห้องแล็ปโรงพยาบาล หรือแล็ปเอกชน ราคาก็ประมาณ 20-40 บาท แต่บางแห่งอย่างศูนย์กามโรคเขาตรวจเช็คให้ฟรี

 

⇒ตรวจเลือดแล้วเลือดไม่บวกถือว่าปลอดภัยจากซิฟิลิสไหม
อันนี้บอกไม่ได้ 100 % เพราะถ้าเราไปรับเชื้อมาประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้วไปตรวจเลือด สำหรับวีดีอาร์แอล เลือดก็ยังไม่บวก หรือว่าเราเป็นมานานแล้ว อายุ 60-70 ปี ระยะหนึ่งเลือดบวกอาจไม่มี แต่เราก็อาจเป็นซิฟิลิสของระบบประสาท เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยโรคซิฟิลิสนี้ค่อนข้างยุ่งยากเหมือนกัน จึงต้องดูทั้งอาการ, ประวัติ และการตรวจเลือด

 

⇒ตรวจเลือดแล้ว รักษาแล้วเลือดก็ยังบวกอยู่ตลอดจะทำอย่างไร
เมื่อเป็นซิฟิลิสแล้ว เรารักษาไปแล้ว เลือดที่แสดงออกมาจะเป็นไปได้ 3 ทางคือ หนึ่ง บวกอยู่ตลอดไปชั่วชีวิต สอง บวก ค่อย ๆ ลดลงแล้วก็หาย สาม บวกอาจลดลงแต่ไม่หายไป เช่นเดิมเคยตรวจเลือดบวก 1 ต่อ 8 ต่อมาอาจจะเหลือ 1 ต่อ 2 หรือกระทั่ง 1 ต่อ 1 และอาจจะคงอยู่อย่างนี้ตลอด อย่างกรณีที่ 3 ซึ่งเรารักษามาแล้วเลือดยังเป็นบวก 1 อยู่ตลอดนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องรักษาใหม่ ถ้าเราไม่ได้ไปส่ำส่อนใหม่ ให้บอกแพทย์ว่าเรารักษามาแล้ว ฉีดยามาแล้ว ไม่จำเป็นต้องเจ็บตัวซ้ำหรือฉีดยาโดยไม่จำเป็น การที่ยังคงเลือดบวก1 อยู่ตลอดอย่างนี้เราเรียกว่า ซีโรฟาสต์ (Serofast) มันหมายถึง เลือดพวกนี้ไม่ได้แสดงเชื้อ แต่แสดงว่ามันมีความต้านทานต่อเชื้อ (สำหรับในคนปกติจะไม่มีความต้านทานต่อเชื้อซิฟิลิส คือจะไม่มีบวก)

 

⇒เป็นซิฟิลิสแล้ว รักษาเอง กินยาเองจะได้ไหม
ซิฟิลิสควรจะเป็นโรคที่รักษาโดยปรึกษาแพทย์ แม้กระทั่งการแปรผลเลือดก็ยังต้องอาศัยข้อมูลหลาย ๆ อย่างของโรค มันไม่แน่นอนตรงไปตรงมาเหมือนแผลริมอ่อน หนองใน หนองในเทียม ฉะนั้นการรักษาตัวเองสำหรับโรคซิฟิลิสโดยไม่ปรึกษาแพทย์นั้น ไม่ดีแน่ ๆ เพราะเราวินิจฉัยเองยากกว่า
1. ซิฟิลิสที่เป็นอยู่นั้นเป็นชนิดไหน จากสายเลือด หรือชนิดที่มาเป็นทีหลัง

2. ขณะนั้นโรคมันอยู่ในระยะไหน เชื้อมันเข้าระบบประสาทแล้วหรือยัง ถ้าเข้าไปในระบบประสาทแล้วกินยาก็ไม่พอแน่ ๆ ต้องรักษาด้วยยาฉีด

3. การฉีดยาสำหรับซิฟิลิส ก่อนจะฉีดก็ต้องตรวจร่างกายทั่วไปให้ละเอียด เช่น หลอดเลือดหัวใจปกติ หัวใจโตไหม ตรวจระบบประสาท บางครั้งถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นมานานแล้วก็ควรจะกรวดน้ำไขสันหลังด้วย ว่าเชื้อเข้าไขสันหลังหรือยัง เพราะการรักษานี้ใช้ยาที่ต่างกันมาก ฉะนั้นผมว่าการรักษาตนเองค่อนข้างอันตราย

 

⇒ ชาย-หญิงควรตรวจเลือดก่อนแต่งงานไหม
สำหรับการตรวจเลือดเฉพาะวีดีอาร์แอล ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่เคยมีประวัติทางสายเลือดและไม่เคยไปเที่ยวสำส่อนก็ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเลือดบวก แต่ถ้าเคยไปเที่ยวมา แล้วไม่แน่ใจว่าจะได้รับเชื้อก็ควรจะตรวจเลือดบวก เพราะโรคซิฟิลิสนี้มีความผิดปกติอยู่ได้โดยไม่มีอาการ

แม่กำลังตั้งครรภ์เป็นโรคซิฟิลิสจะมีผลต่อลูกอย่างไร
ถ้าเรารู้ว่าแม่เป็นโรคซิฟิลิสตอนตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ระยะ 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แล้วรีบรักษาก็จะหายได้ แต่ถ้ารู้ช้า เช่น 6-7 เดือนแล้วก็อาจทำให้เด็กในครรภ์ได้รับเชื้อซิฟิลิสได้ เด็กที่คลอดออกมาก็อาจมีความพิการอยู่บ้าง เช่น หูหนวก ตาบอด กระดูกโค้ง หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง

แผลเริมหรือแผลเฮอร์ปีส์ (Herpes) เป็นอย่างไร
เป็นแผลจากเชื้อไวรัสซึ่งพบบ่อยที่สุด พวกนี้มีระยะฟักตัวของโรคค่อนข้างสั้น 3-5 วัน เป็นแผลคัน ๆ ใส ๆ พอง ๆ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะโตและเจ็บ เป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเองโดยไม่มีรอยแผล

อาการแทรกซ้อนของแผลเริม หรือเฮอร์ปีส์(Herpes) อาจถึงขั้นเป็นโรคประสาทนั้นจริงหรือไม่
อาการแทรกซ้อนของเฮอร์ปีส์ ก็มีเหมือนกันที่ทำให้เกิดอาการทางประสาท เชื้อเฮอร์ปีส์บางทีที่มันหายอาจไม่ได้หายขาด คือเชื้อมันไปหลบอยู่ที่ปมประสาท เมื่อร่างกายส่วนนั้นทรุดโทรมหรือเสียดสี เชื้อก็จะโผล่ทำให้เป็นซ้ำเป็นซาก อาจมีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ เกิดความกังวลว่าเราจะไปยุ่งเกี่ยวทางเพศได้ไหม จะร่วมเพศกับภรรยาก็กลัวว่าจะเกิดแผลขึ้นมา ทำให้กังวล สุขภาพจิตเสื่อม

                         

 

⇒แผลริมอ่อน (Chacroid) เป็นอย่างไร
ลักษณะแผลคล้าย ๆ เริมเกิดจากเชื้อฮีโมฟิลิส (Hemophilus) ระยะฟักตัวของโรคสั้นราว 3-5 วัน มีแผลอย่างมาก 2-3 แผล แผลค่อนข้างใหญ่ดูกะรุ่งกะริ่ง มีน้ำเหลือง, มีเลือดออกเป็นหนอง จับแตะดูไม่แข็งเหมือนแผลซิฟิลิส แผลขยายค่อนข้างเร็วและขยายใหญ่ แผลนี้จะทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตบวมเป็นแบบฝีมะม่วงได้ แผลจะเป็นบริเวณอวัยวะเพศ ในผู้ชายก็เป็นได้ที่หนังหุ้ม ตั้งแต่ปลาย โคน เป็นได้หมด แผลริมอ่อนถ้าทิ้งไว้นาน ๆ เมื่อแผลเป็นมากขึ้นทำให้อวัยวะเพศขาดหลุดออกได้ คนไทยเรียกว่า โรคฮวบ

 

⇒ การดูแลแผลเริมและแผลริมอ่อน ต้องใช้ยาทาไหม
การดูแลแผลเฉพาะที่ ให้ใช้น้ำเกลือล้างแผล เป็นน้ำเกลือที่เขาให้คนไข้ใช้ล้างแผล เช็ดแผลทำความสะอาดแผล แผลต้องให้แห้งเสมอ ถ้ามีความชื้นอาจมีโรคแทรก แค่ล้างแผลก็เพียงพอแล้วไม่ต้องใส่ยาอะไร ยาพวกเพนนิซิลลินโรยแผลไม่ควรใช้เพราะอาจแพ้ยาได้
การใช้ยาใส่แผลเฉพาะที่เพื่อรักษาแผลต่าง ๆ ที่อวัยวะเพศจะได้ผลในกรณีเดียวคือ แผลเริม (แผลที่เกิดจากเชื้อไวรัสอยู่เป็นกลุ่ม) เพราะว่ามันจะได้ป้องกันการติดเชื้อแทรก แต่ธรรมดาเชื้อเริมมันจะหายเอง

 

⇒ เป็นแผลเริมและแผลริมอ่อนรักษาตนเองได้ไหม
การรักษาแผลนี้รักษาเองได้ ซึ่งต่างจากหนองในหรือแผลซิฟิลิส การรักษานอกจากการดูแลแผลที่กล่าวถึงแล้ว โดยทั่วไปไม่ต้องใช้ยาใส่แผล แต่ต้องกินยา ยาที่เหมาะกับการรักษาตัวเองและปลอดภัยก็คือยาซัลฟา ง่ายๆ ก็คือ ซัลฟาไดอาซีน วันละ 5 ถึง 6 กรัม(เม็ดละครึ่งกรัม กินครั้งละ 3 เม็ด 4 เวลา คือเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน) หรือกินพวกแบคตริม (Bactrim),ไบโอตริม (Biotrim) ครั้งละ 2 เม็ด เช้าและเย็นนาน 10 วัน เมื่อรักษาหายแล้วทางที่ดีควรไปตรวจเลือดสำหรับซิฟิลิสไว้ด้วย หลังจากไปรับเชื้อมาประมาณ 3 เดือน เพราะว่าบางครั้งอาจได้รับเชื้อร่วมกันมาระหว่างซิฟิลิสกับแผลริมอ่อน

 

⇒ สำหรับคนไขที่รักษาโดยเปลี่ยนยาบ่อย
การรักษากามโรค ยาที่เราใช้ส่วนใหญ่เราจะใช้ให้ตรงเลย ฉะนั้นการเปลี่ยนยาไปเปลี่ยนยามามีน้อยมาก การรักษาที่ทดลองยาตัวนี้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่มีผลดีอะไร ถ้าเป็นแผลก็ขอแนะนำให้ใช้ยาซัลฟานี่แหละ ได้ผลเกือบ 100 % ไม่มียาอะไรใหม่เลยในปัจจุบันที่รักษาพวกแผลได้ดีกว่ายาซัลฟาแต่ถ้ารักษาไม่ได้ผลอาจเปลี่ยนยา ได้สักครั้งหรือสองครั้ง

 

⇒แผลในผู้หญิงต้องสนใจมากสักหน่อย
แผลในผู้หญิงบางทีเป็นอยู่ในช่องคลอดลึก ๆ หรือที่ปากมดลูก ซึ่งมองไม่ค่อยเห็น เพราะฉะนั้นแผลริมแข็ง (ซิฟิลิส) ในผู้หญิงนี่น้อยมากที่จะวินิจฉัยได้ เพราะว่าแผลริมแข็งปกติก็ไม่ค่อยมีอาการอยู่แล้ว อาจมีมูกๆ คล้ายตกขาว ฉะนั้นถ้าผู้ชายเป็นแผลริมแข็ง ภรรยาควรได้รับการตรวจเลือดเป็นระยะ เดือนละครั้งเป็นเวลา 3 เดือน และช่วงที่รักษาตัวเองยังไม่หาย ควรจะป้องกันด้วยการใส่ถุงยางอนามัย หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระยะหนึ่ง

สำหรับแผลเริม ถ้าผู้ชายเป็นก็อาจทำให้ผู้หญิงเป็นที่บริเวณปากมดลูก แล้วก็แผลเริมเรื้อรังนี้ หลายคนเชื่อว่าทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ฉะนั้นในผู้หญิงซึ่งมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่เป็นเริมนี้ ก็ควรจะตรวจมะเร็งปากมดลูกบ้างปีละ 1 ครั้ง และในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ เชื้ออาจติดไปยังทารกที่ผ่านออกมาทางช่องคลอดได้

 

⇒ จะป้องกันการติดเชื้อจากแผลได้อย่างไร
1. หลีกเลี่ยงการส่ำสอนทางเพศ

2. ใส่ถุงยางอนามัย ผู้ชายป้องกันได้เฉพาะตัวอวัยวะเพศแต่ไม่ได้กันถุงอัณฑะ หรือบริเวณผิวหนังใกล้เคียง เพราะฉะนั้นแผลเริมหรือแผลริมแข็งอาจขึ้นบริเวณหัวเหน่า หรือถุงอัณฑะก็ได้

3. ทำความสะอาดบริเวณที่จะติดแผลได้หลังการประกอบทางเพศ ด้วยการฟอกสบู่ยาหรือแม้กระทั้งสบู่อ่อนๆ หรือสบู่ธรรมดากับน้ำให้ทั่วบริเวณนั้น จะช่วยป้องกันพวกเริมหรือว่าแผลริมอ่อนได้มาก

 

⇒ แผลติดต่อทางเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มได้ไหม
ติดต่อได้ยาก แต่แผลริมอ่อนนี่ติดต่อง่ายกว่าแผลอื่น ๆ ถ้าน้ำเหลืองจากแผลนี้ไปถูกแผลอื่น ๆ เช่น รอยถลอกหรือเนื้อเยื้ออ่อน ๆ ก็จะติดแผลได้

 

⇒แผลอย่างอื่นที่บริเวณอวัยวะเพศมีอะไรบ้าง
ก็มีรอยถลอกเป็นผื่นแดง ๆ หรือเป็นขุย ๆ รู้สึกแสบๆ ที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ พวกนี้อาจเกิดจากเชื้อรา หรือเวลาประกอบการทางเพศอาจแพ้สารระคายเคืองในช่องคลอด การล้างให้สะอาดด้วยน้ำเกลือธรรมดา (น้ำเกลือล้างแผล) แล้วทาด้วยยาประเภทพวกแก้อักเสบที่มีเชื้อราอยู่ด้วย ที่ใช้ก็มี ไวโอฟอร์ม (Vioform), ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) แม้กระทั้งครีมฆ่าเชื้อราธรรมดา เช่น ไมโคสแตติน (Mycostatin) และ เจนเชี่ยนไวโอเล็ต (gentian violet) มีสีน้ำเงินและสีม่วง ๆ ก็ได้ผลดีมากเหมือนกัน แต่ว่าเวลาทาอาจเปื้อนเสื้อผ้า

อีกอย่างก็อาจเป็นแผลมะเร็ง โดยเฉพาะในคนสูงอายุ แผลนี้ไม่ค่อยเจ็บมากนัก ขยายออกช้า ๆ เดือนหนึ่งหรือสองเดือนก็ไม่ยอมหาย แผลอย่างนี้อย่านึกว่าเป็นกามโรคอย่างเดียว