• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เส้นเลือดขอด

เป็นที่ขาข้างซ้ายข้างเดียว กดรู้สึกเจ็บ บางครั้งจะชาๆ ไปตรวจที่โรงพยาบาลศิริราช หมอบอกให้ผ่าตัดโดยไม่ได้ให้โอกาสดิฉันซักถามข้อข้อใจ ผ่าตัดจะมีอันตรายไหม การไหลเวียนของเลือดจะเหมือนเดิมหรือไม่

เนื่องด้วยดิฉันอายุ 41 ปี แต่งงานแล้วมีบุตร 4 คน และทำหมันแล้ว น้ำหนัก 60 กก. เป็นแม่บ้าน ตัวดิฉันเป็นเส้นเลือดขอดที่ขาข้างซ้ายข้างเดียว เป็นมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ระยะหลังตรงเส้นเลือดขอดเป็นก้อนเท่าหัวแม่มือ กดดูรู้สึกเจ็บ และฝ่าเท้าข้างเดียวกัน บางครั้งจะชาๆ ดิฉันได้ไปตรวจที่ รพ.ศิริราชหมอบอกให้ผ่าตัด โดยไม่ได้ให้โอกาสดิฉันซักถามข้อข้องใจ และบอกให้มาฟังเตียง แต่ระยะนี้เป็นช่วงเปิดเทอม ดิฉันจะต้องดูแลเด็ก และทำงานบ้านโดยไม่มีผู้ช่วย จึงยังไม่ได้ไปฟังเตียง คิดว่าจะให้ลูกปิดเทอมแล้วจึงไปติดต่ออีกครั้ง ดิฉันมีข้อข้องใจอยากจะถามคุณหมอดังนี้

1. ดิฉันได้ยินมาว่า หมอจะผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดนั้นออกทิ้งไป และใช้เส้นเลือดอื่นแทนจริงหรือไม่ จะมีอันตรายไหม จะทำให้มีการไหลเวียนของโลหิตเหมือนเดิมหรือไม่
2. การผ่าตัดครั้งนี้จะใช้งบประมาณเท่าไร จะต้องอยู่ รพ.นานกี่วัน และพักฟื้นที่บ้านนานเท่าไร จึงจะทำงานบ้านได้ตามปกติ
3. ผ่าตัดแล้วจะนั่งยองๆ ในห้องน้ำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ควรจะทำอย่างไร
4. เวลาผ่าตัดต้องวางยาสลบหรือไม่ น้ำหนักตัวดิฉันจะเป็นอุปสรรคในการผ่าตัดไหม
ช่อทิพย์/กรุงเทพฯ

ตอบ
อาการเส้นเลือดขอด เกิดจากหลอดเลือดดำโป่งขยายออก ทำให้ลิ้นในหลอดเลือดดำ ไม่สามารถกลั่นเลือดดำไว้ได้ เลือดดำจึงคั่งอยู่ในหลอดเลือดดำเป็นจำนวนมาก ทำให้อาหารและออกซิเจนจากเลือดแดงไม่สามารถลงไปเลี้ยงบริเวณนั้นได้ จึงเกิดอาการเจ็บปวดและชาได้ และถ้าเกิดเป็นแผลที่บริเวณเส้นเลือดขอด มักจะหายลำบากเป็นแผลเรื้อรัง

การรักษาทั่วไปอาจใช้ผ้ายืดพันรัดตั้งแต่บริเวณเท้าขึ้นมาถึงข้อเข่า หรือถุงน่องที่ทำขึ้นพิเศษเพื่อการนี้ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง และจำเป็นจะต้องแนะนำโดยแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดว่าต้องใช้ถุงน่องขนาดไหน

นอกจากนี้เวลานอนควรยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเล็กน้อย และทำการบริหารข้อเท้าโดยกระดกข้อเท้าขึ้นลง หรือหมุนเป็นวงกลม อาจหมุนเข้าหรือหมุนออกก็ได้ ควรทำท่าบริหารทุกวัน วันละ 10-15 นาที เวลาตื่นนอนและก่อนนอน เวลานั่งเก้าอี้ควรหาม้านั่งรองรับที่บริเวณน่องไว้ และทำการบริหารข้อเท้าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาขั้นสุดท้ายเมื่อหลอดเลือดดำอยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้ และวิธีการรักษาอื่นๆไม่ได้ผล

1. แพทย์จะผ่าตัด เอาเส้นเลือดขอดออกไป อาการเจ็บปวดอาจจะน้อยลงหรือหายไป แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง คือยืนมากไปหรือห้อยเท้านานเกินไป ก็จะเป็นเส้นเลือดขอดที่บริเวณอื่นอีก โดยเฉพาะหลอดเลือดดำที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งผ่าตัดออกได้ยาก การผ่าตัดจึงไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แต่เป็นการรักษาอาการเท่านั้น และหลอดเลือดดำที่ถูกตัดออกไปจะไม่งอกขึ้นมาอีก

2. การผ่าตัดในโรงพยาบาลของรัฐจะเสียค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก อาจจะอยู่โรงพยาบาลเพียงหนึ่งวันเท่านั้น และพักฟื้นที่บ้านอีก 1-2 สัปดาห์

3. การผ่าตัดไม่ได้กระทบกระเทือนข้อต่อ หรือกล้ามเนื้อ ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นคงทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม

4. เวลาผ่าตัดเส้นเลือดมักเป็นการฉีดยาชาเฉพาะที่ จึงไม่เป็นอันตราย น้ำหนักตัวไม่เป็นอุปสรรคในการผ่าตัด
อ.ประโยชน์ บุญสินสุข