• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พาร์กินสัน

ถาม : ชวลิต/นครพนม
พ่อของผมอายุ 78 ปีแล้ว ไปไหนมาไหนได้ปกติเหมือนผู้สูงอายุทั่วไป แต่พักหลังสังเกตเห็นมือสั่นๆ บ้างเป็นบางครั้ง สงสัยว่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน

ขอเรียนถามว่าอาการของโรคพาร์กินสันมีอะไรบ้าง และจะต้องทำการรักษาอย่างไร

ตอบ : นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์
โรคพาร์กินสันอาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ เช่น ความชราภาพของสมอง (ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป) หลอดเลือดสมองอุดตัน และสารพิษทำลายสมอง (แมงกานีส คาร์บอนมอนอกไซด์)

อาการแสดงของผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับอายุ ระยะเวลาการเป็นโรคและภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา

สำหรับอาการเด่นๆ ของโรคพาร์กินสันมีดังนี้
1. สั่น ร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยจะมีอาการสั่นเป็นอาการเริ่มต้นของโรค มักจะสั่นมากเวลาอยู่นิ่งๆ ที่นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่นๆ ด้วย ช่วงแรกเกิดข้างเดียวต่อมาจึงเกิดทั้ง 2 ข้าง
2. เกร็ง ผู้ป่วยรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยเฉพาะแขน ขาและลำตัว
3. เคลื่อนไหวช้า ระยะแรกรู้สึกว่าทำอะไรช้าลงไปจากเดิม ไม่กระฉับกระเฉง และอาจหกล้มบ่อย ถ้าเป็นมากต้องใช้ไม้เท้าพยุง
4. ท่าเดินผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีท่าเดินจำเพาะตัวที่ต่างจากโรคอื่นคือ จะเดินก้าวสั้นๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรกๆ และจะก้าวยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเร็วมากและหยุดทันทีทันใดไม่ได้จะล้มหน้าคว่ำ
5. การแสดงสีหน้า ผู้ป่วยจะมีใบหน้าเฉยเมย ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ
6. เสียงพูด มักพูดเสียงเครือๆ และเบามาก ถ้าพูดไปนานๆ เสียงจะหายไปในลำคอ
7. การเขียนหนังสือ ทำได้ลำบาก และจะค่อยๆ เขียนตัวเล็กลงจนอ่านไม่ออก
8. การกลอกตา ทำได้ลำบาก ช้า ไม่คล่องแคล่ว

ปัจจุบัน การรักษาโรคพาร์กินสันสามารถทำได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยกลับสู่สภาพปกติได้ ด้วยวิธีหลัก 3 อย่างคือ ทางยา ทางกายภาพบำบัด และการผ่าตัด

จุดมุ่งหมายของการรักษาคือ สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับคืนมาสู่สภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด