• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลมชัก

ถาม : วันฤดี/ขอนแก่น
ดิฉันอยากทราบอาการของโรคลมชัก และมีวิธีการรักษาให้หายขาดได้หรือไม่อย่างไร

อาการที่ดินฉันเป็นก็คือใจสั่นเป็นบางครั้ง ต้องกินยาคาร์บามาซีพีน (carbamazepine) ทุกวัน ถ้าไม่กินยาจะมีอาการแขนซ้ายกระตุก

ตอบ : นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
โรคลมชักเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดอาการหมดสติ เคลื่อนไหวผิดปกติ รับสัมผัสความรู้สึกแปลกๆ หรือมีพฤติกรรมผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นฉับพลัน เป็นอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็กลับหายเป็นปกติได้เอง แต่มักจะมีอาการกำเริบซ้ำเป็นครั้งคราว แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคลมชักต่อเมื่อพบว่ามีอาการกำเริบตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป การชักเพียงครั้งเดียวอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และหายขาดตลอดไป

โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1 ของประชากรทั่วไป พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่มักจะพบเป็นครั้งแรกในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และคนอายุมากกว่า 65 ปี

โรคลมชักมีทั้ง "ลมชักเฉพาะส่วน" และ "ลมชักทั่วไป"Ž

โรคลมชักเฉพาะส่วน
นั้นผู้ป่วยมักจะมีความรู้สึกตัวดี ไม่หมดสติ และจะมีอาการเกิดขึ้นเฉพาะส่วน และเป็นอยู่นานเพียง 2-3 วินาที ถึง 2-3 นาที เช่น แขนหรือขาชาหรือกระตุกเพียงข้างหนึ่ง หรืออาจเห็นแสงวาบ ได้กลิ่น รส หรือได้ยินเสียงแปลกๆ บางรายอาจมีความรู้สึกกลัวโดยไม่มีเหตุผล หรือรู้สึกว่าสถานที่ บุคคลหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งพบครั้งแรกนั้นเคยประสบมาก่อน

บางรายอาจเริ่มมีอาการกระตุกของมุมปาก นิ้วมือ หรือนิ้วเท้าก่อน แล้วต่อมาจะขยายขึ้นไปที่มือ เท้า แขนขา

โรคลมชักชนิดนี้อาจเกิดขึ้นโดยลำพังแล้วหายไป หรือชักนำให้เกิดอาการชักเฉพาะส่วนแบบซ้ำซ้อน หรือโรคลมชักแบบกระตุกทั้งตัวในเวลาต่อมา

การรักษา
มักจะให้ยาในกลุ่มเดียวกับลมบ้าหมู เช่น ฟีโนบาร์บิทาล เฟนิโทอิน คาร์บามาซีพีน โซเดียมวาลโพรเอต โทพิราเมต เป็นต้น

การปฐมพยาบาล
เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการชัก ให้ปฐมพยาบาลดังนี้
1. ป้องกันอันตรายหรือการบาดเจ็บ โดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในพื้นที่โล่งและปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือระเกะระกะอยู่ข้างกาย ระวังการตกจากที่สูง และให้อยู่ห่างจากน้ำและไฟ
2. ปลดเสื้อผ้า เข็มขัด เครื่องแต่งกายให้หลวม
3. จับผู้ป่วยนอนในท่าตะแคง เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง ให้ผู้ป่วยหนุนหมอนหรือผ้าห่ม
4. ถ้ามีเศษอาหาร เสมหะ หรือฟันปลอม ให้นำออกจากปาก ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก
5. อย่าใช้วัตถุ (เช่น ไม้ ด้ามช้อน ปากกา ดินสอ) สอดใส่ปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้น เพราะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บได้
6. อย่าผูกหรือมัดตัวผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้
7. อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง จนกว่าจะหายเป็นปกติ
8. อย่าให้ผู้ป่วยกินอะไรระหว่างชัก หรือหลังชักใหม่ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้