• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สาร "ลูทีน" กับจอประสาทตา

ถาม : ชลดา/กรุงเทพฯ
ระยะนี้ใครๆ ก็พูดถึงเรื่องของสาร "ลูทีน" ดิฉันขอถามว่าคืออะไร และอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง

ตอบ : นพ.สรายุทธ สุภาพรรณชาติ
ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มที่เรียกว่าแซนโทฟิลส์ (xanthophylls) มีลักษณะเป็นสารสีเหลือง อยู่ในจำพวกแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีประโยชน์ต่อดวงตาของคนเรา ซึ่งชาวต่างประเทศรู้จักสารอาหารลูทีน (lutein) กันอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นสารอาหารที่ช่วยชะลออาการจอประสาทตาเสื่อมของผู้ใหญ่ จึงมีการศึกษาประโยชน์ของลูทีนที่มีต่อการปกป้องจอประสาทตาของทารกและเด็กเล็ก เพิ่มมากขึ้น

บทบาทของลูทีนที่มีต่อดวงตานั้น พบว่าภายในจอประสาทตาของคนเรา มีร่องเล็กๆ อยู่จุดหนึ่งที่มีเซลล์รับภาพจอประสาทตา ซึ่งเป็นจุดที่แสงตกกระทบ และทำให้คนเราสามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนในแต่ละวัน ซึ่งบริเวณเซลล์รับภาพนี้มีสารสีเหลือง หรือลูทีนอยู่หนาแน่นมากที่สุด โดยจะพบได้ตรงชั้นเนื้อเยื่อที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาท ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นจุดที่สำคัญมากต่อการมองเห็น หากบริเวณดังกล่าวเสื่อม หรือเสียไป อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดได้ โดยสารลูทีนในเซลล์รับภาพของจอประสาทตานี้ จะทำหน้าที่สำคัญคือ คอยกรองแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อจอประสาทตา และเป็นแสงที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะมีอยู่ทั่วไปรอบๆ ตัวเรา ซึ่งทั้งแสงจากดวงอาทิตย์ แสงจากโทรทัศน์ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากหลอดไฟ เป็นต้น

นอกจากนี้ ลูทีนยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในดวงตาของคนเราอีกด้วย เพราะดวงตาของเราจะมีสารอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นตัวทำลายเซลล์รับภาพและทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้

ลูทีนถือเป็นสารอาหารที่มีความ สำคัญในการปกป้องจอประสาทตา โดยลูทีนจะทำงานร่วมกันกับกรดไขมันดีเอชเอและเอเอซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็ก โดยดีเอชเอและเอเอ จะทำหน้าที่เหมือนเป็นหลอดไฟ ส่วนลูทีนจะทำหน้าที่เหมือนเป็นสารเคลือบหลอดไฟไม่ให้เสื่อมเร็ว และนอกจากลูทีนจะพบมากในดวงตาของคนเราแล้ว ยังพบได้ในสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็นถึงร้อยละ 66 จึงเชื่อว่าลูทีนมีส่วนช่วยในการรับภาพและส่งต่อไปยังสมองได้ดีขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สารอาหารลูทีนนี้ ร่างกายของคนเราไม่สามารถสังเคราะห์สารลูทีนขึ้นมาใช้เองได้ จะต้องกินเข้าไปเท่านั้น โดยพบมากในน้ำนมแม่ เด็กแรกเกิดที่ได้กินนมแม่นั้นจะได้รับลูทีนผ่านทางน้ำนมโดยตรง หากไม่ได้รับสารอาหารที่ช่วยปกป้องดวงตาอย่างเพียงพอ

ดังนั้น การดูแลปกป้องดวงตาและเอาใจใส่เรื่องการกินอาหาร จะทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็น มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีพัฒนาการทางสายตาที่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องให้ลูกได้ดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 1 ขวบ