• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้อกระจก


⇒ ถาม
เป็นมาประมาณ 2 ปีแล้ว หมอบอกว่าเป็นทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันอายุ 75 ปีแล้ว ตรวจมา 3 ครั้งอาการยังคงเดิม

ผมเป็นต้อกระจกในวัยชรา ที่ตาข้างซ้ายเป็นเยื่อเมือกมาปิดมองอะไรไม่เห็นเป็นรูปร่าง เห็นเพียงราง ๆ แสดงว่ายังไม่บอด เป็นมาประมาณ 2 ปีแล้ว ส่วนตาข้างขวา เวลานี้ยังสังเกตไม่ได้ว่าจะเป็นเมือกขุ่นขึ้นมาบ้างหรือเปล่า แต่ก็รู้สึกว่า มัวลงไปบ้าง ไม่ค่อยแจ่มใสเหมือนปีก่อน ๆ แพทย์โรงพยาบาลจังหวัดบอกว่าเป็นต้อกระจกทั้ง 2 ข้าง ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ซักถาม และไม่ยอมแนะนำให้ใช้แว่นตา เพียงแต่บอกให้ไปตรวจทุก ๆ 3 เดือน ปัจจุบัน อายุผม 75 ปีเศษ เคยไปตรวจมาแล้ว 3 ครั้ง อาการก็ยังคงเดิม

1. การดูดต้อ ตามความเข้าใจของผมว่า ไม่ต้องใช้มีดผ่าตัด ถ้าเช่นนั้นการดูดต้อก็ไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลใช่ไหมครับ

2. การดูดต้อแล้วฝังเลนส์เทียม โรงพยาบาลของรัฐจะคิดค่าดูต้อครั้งละประมาณเท่าใด และคิดค่าเลนส์เทียมอันละเท่าใด

3. ถ้าคิดค่าดูดต้อในราคาสูงมาก ดังเช่นที่กล่าวในคอลัมน์ ถามตอบ ฉบับที่ 100 เทียบเคียงดู (เฉพาะค่าผ่าตัดอย่างเดียวอยู่ในวงเงิน สามถึงหกพันบาท) อย่างนี้ผู้มีรายได้น้อย คงไม่มีโอกาสเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐใช่ไหมครับ


วินัย/จันทบุรี


⇒ ตอบ
ภาวะต้อกระจกถ้าสังเกตให้ดี ๆ โดยใช้ไฟฟ้าสว่าง ๆ ส่องเฉียง ๆ ที่ตาข้างที่สงสัยจะเป็นต้อ จะเห็นว่า ตรงกลางตาดำหลังรูม่านตาจะมีสีขาวหม่น ๆ หรือขาวจั๊วะคล้ายสีน้ำนม มิได้เป็นเยื่อเมือกมาปิดที่ตาดำ ดังที่คุณลุงเล่าหรอกครับ ถ้าเป็นเยื่อเมือกจริง ๆ แล้วน่าจะเป็นต้อเนื้อหรือภาวะอื่นมากกว่า ขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย
1. การดูดต้อ ก็คือการผ่าตัดตาชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่วิธีการผ่าตัดเอาต้อกระจกออกระยะหลัง ๆ แพทย์ที่เข้าฝึกอบรมทางจักษุวิทยามักจะพยายามทำวิธีใหม่ ที่เรียกว่าดูดต้อจะอย่างไรก็ต้องผ่าตัดอยู่ดี แต่เป็นการผ่าตัดที่เป็นแผลไม่กว้าง เปิดแผลแคบ ๆ เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปดูดเนื้อเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก เหลือเพียงถุงหุ้มเลนส์บาง ๆ ด้านหลังเท่านั้น (บางรายเพื่อไว้เตรียมใส่เลนส์เทียม)
ดังนั้นเมื่อได้ชื่อว่าผ่าตัดแล้ว ก็ต้องนอนโรงพยาบาลแน่ ๆ เพียงแต่ว่าจะนอนนานสักกี่วันเท่านั้นเอง แพทย์ผู้ผ่าตัดบางคนให้นอนพักหลังผ่าตัด 2 วัน บางคน 5 วัน แต่ในบางคนอาจจะให้นอนพักฟื้นเพียงครึ่งวันแล้วให้กลับบ้านก็ยังมี...! ออกจะเสี่ยง ๆ สักหน่อย พวกนี้มีจะเป็น “จักษุแพทย์ธุรกิจ” เวลามีน้อยฝีมือต้องฉมัง ก็ไม่แน่นอนเสมอไปทุกรายหรอก

2. ค่าผ่าตัดดูดต้ออย่างเดียว ประมาณ สามถึงสี่พันบาท ไม่รวมค่ายา, ค่าห้อง และอาจจะอย่างอื่น ๆ อีกค่าเลนส์เทียมราคาต้นทุนจะมีช่วงอยู่ระหว่างสามพันถึงห้าพันบาท (อาจถึงหกพันบาท) แล้วแต่ยี่ห้อของบริษัทไหน แต่แพทย์ผู้ผ่าตัดจะคิดกำไรอีกกี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่แต่ละรายไป รวมเบ็ดเสร็จการผ่าตัดดูดต้องและฝังเลนส์เทียมในโรงพยาบาลของรัฐประมาณหมื่นบาทต่อหนึ่งข้าง (หนึ่งตา)

3. มีซิครับ เพราะผู้มีรายได้น้อยสารถจะได้ส่วนลดหย่อนค่ารักษา ค่าผ่าตัดอยู่แล้ว ส่วนค่าเลนส์เทียม คุณลุงก็ขอยืมใครเขามาจ่ายสำรองไปก่อน แล้วทำใบเบิกคืน (ถ้าลูกรับราชการหรือลุงเคยรับราชการมาก่อน) จากทางรัฐให้สี่พันบาท กล่าวง่าย ๆ ก็หมายถึงว่า ทางรัฐช่วยค่าเลนส์เทียมให้ลุงสี่พันบาท

ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็ผ่าตัดแบบธรรมดาก็ได้ครับ แล้วใส่แว่นตาหรือเลนส์สัมผัสเอา สามารถจะเห็นได้ ทำไงได้เล่าในเมื่อเราเป็นผู้มีรายได้น้อยนี่ แต่ก็มิใช่ว่าผู้ที่มีรายได้น้อย จะผ่าตัดต้อไม่ได้ เพียงแต่ว่าการใส่เลนส์เทียมเป็นวิธีการสมัยใหม่ “เป็นค่านิยม” ที่คนไข้อาจจะเอาไปอวดไปคุยเขื่องทับกันก็ได้ ประสิทธิภาพการมองเห็นไม่ต่างกันมากจนทำอะไรไม่ได้หรอกครับ

 

น.พ. สุรพงษ์ ดวงรัตน์