• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประสาทหูเทียม


ในเมืองไทยมีการนำมาใช้หรือยัง ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร

ผู้ถาม นิพนธ์/ชลบุรี
ผู้ตอบ  อาจารย์วันเพ็ญ กุลเลิศพรเจริญ


มีข่าวว่าแพทย์ชาวอังอังกฤษ ประดิษฐ์หูเทียมอิเล็กทรอนิกส์ได้ และทดลองใช้กับคนไข้หญิงได้ผลดีมาก ผมอยากทราบว่า หูเทียมอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพอย่างไร แพทย์ไทยนำมาใช้แล้วหรือยัง ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร

⇒ เครื่องประสาทหูเทียม หรือ Cochlear implant ประกอบด้วยส่วนประกอบ 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณไฟฟ้า ส่วนนี้จะฝังไว้ในร่างกาย บริเวณใต้หนังบนกระดูกหลังใบหู อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้า ส่วนนี้อยู่นอกร่างกาย ส่วนที่ฝังอยู่ที่ใบหูนั้นจะต่อกับลวดไฟฟ้า 2 เส้น เส้นหนึ่งส่งกระแสไฟฟ้าเข้าประสาท สมองคู่ที่ 8 ลวดอีกเส้นหนึ่งคือลวดต่อลงดิน

ส่วนที่อยู่นอกร่างกายจะประกอบไปด้วย เครื่องแปลงสัญญาณไฟฟ้า ไมโครโฟน และส่วนส่งสัญญาณ ไมโครโฟนจะรับคลื่นเสียงจากภายนอก แล้วแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าเข้าเครื่อง แปลงเป็นสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า ส่งไปยังส่วนรับสัญญาณไฟฟ้า ราคาเฉพาะเครื่องประสาทหูเทียมนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดประมาณ 200,000 บาทขึ้นไป ผู้ป่วยประสาทหูพิการนั้น ไม่สามารถรับการผ่าตัด ใส่เครื่องหูเทียมได้ทุกราย ผู้ที่จะรับการผ่าตัดจะเป็นผู้ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณา โดยดูจากองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน

ก่อนผ่าตัดจะต้องมีการทดสอบหลายประการด้วยกัน เช่น ตรวจร่างกายโดยโสตแพทย์ ตรวจการได้ยิน โดยนักตรวจการได้ยิน เอกซเรย์ และทดสอบด้านสุขภาพจิตของผู้ที่จะได้รับการผ่าตัดเสียก่อน การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 2-3 วันในโรงพยาบาล หลังผ่าตัด 1-2 เดือนผู้ป่วยจะต้องกลับมาพบนักตรวจการได้ยิน เพื่อรับชิ้นส่วนของเครื่องประสาทหูเทียม ส่วนที่เหลือ และรับการฝึกหัดรับฟังเสียงจากเครื่องประสาทหูเทียม รวมทั้งฝึกการอ่านริมฝีปาก ฝึกฟัง และหัดออกเสียงพูด โดยใช้ระยะเวลา ฝึกประมาณ 30 ชั่วโมงเครื่องประสาทหูเทียมจะแตกต่างจากเครื่องช่วยฟัง คือ เครื่องประสาทหูเทียมมิได้กระตุ้นหูชั้นในด้วยคลื่นเสียงที่ขยายแล้ว แต่เป็นการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าต่อเส้นประสาทหูโดยตรง

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีแพทย์ที่สามารถผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแล้ว คืออาจารย์นายแพทย์คเณศร์ แวววิจิตร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่านได้ทำผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแก่ผู้ป่วยไป 3-4 ราย ได้ผลดีพอสมควร