• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟันปลอม

ในการถามเกี่ยวกับเรื่องการเจ็บป่วยส่วนตัว ถ้าจะให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง ควรจะเล่าประวัติอาการการตรวจรักษา การใช้ยา การแพ้ยา (ถ้าเคย) ผลการตรวจเลือด เอกซเรย์ (ถ้ามี) ให้ละเอียด และโปรดแจ้งชื่อ อายุ เพศ อาชีพ ที่อยู่ ให้ชัดเจน โปรดกรุณาแยกคำถาม แต่ละโรค กรุณาอย่าถามคำถามรวมในฉบับเดียวกัน เช่น แยกโรคเกี่ยวกับกายภาพบำบัด, สุขภาพช่องปาก

การรักษาความสะอาดฟันปลอมควรปฏิบัติอย่างไร และกลิ่นปากมีสาเหตุมาจากฟันปลอมได้หรือไม่

ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยครู มีปัญหาเกี่ยวกับฟันผุมากค่ะ เคยถอนฟันซี่ที่ 2 นับจากข้างในออกมา ตอนนั้นซี่แรกเริ่มผุเหมือนกันแต่ไม่มาก แต่ตอนนี้หักไปครึ่งซี่ พอเรียนปี 2 ไปถอนฟันอีกข้างหนึ่ง มีลักษณะเหมือนกับฟันซี่แรกที่ติดกัน ซึ่งผุมาก และแตกออกเรื่อย ๆ ต่อมาฟันหน้าซี่บน ผุอีก 1 ซี่ จึงไปอุดโดยหมอเขาอุดหินปูนไว้ 1 ปีต่อมาหินปูนหลุดออกเกือบหมด ไปหาหมอคิดว่าจะอุดอีก แต่หมอแนะนำให้ถอน ดิฉันจึงไปถอนออก ตั้งแต่ถอนฟันมารู้สึกว่ามีกลิ่นปากมากจนไม่อยากจะพูดกับใคร เวลาหัวเราะฟันก็สบกันไม่สนิท ทำให้รู้ว่าใส่ฟันปลอม

ขอเรียนถามปัญหาดังนี้
1. สาเหตุที่ทำให้เกิดมีกลิ่นปาก มีสาเหตุมาจากการใส่ฟันปลอมหรือเปล่าคะ จะรักษาโดยใช้ยาอะไร

2. การรักษาและทำความสะอาดฟันปลอม ควรปฏิบัติอย่างไร จะใช้ได้นานเท่าไหร่จึงจะเปลี่ยนใหม่

3. ฟันที่แตกออกไปครึ่งซี่ ถ้าจะถอนออกทุกซี่โดยไม่ใส่ฟันปลอมได้หรือเปล่าคะ เวลากินข้างหรือเคี้ยวอาหารไม่เคยละเอียดเลย ฟันที่เคยถอนแต่ก่อนไม่เคยใส่ใหม่เลย ซี่ที่ติดกันยังแตกทุกข้าง

4. ฟันปลอมเขาสร้างโครงร่างไม่ถูกหรือตรงกับซี่เดิม จะเปลี่ยนโครงใหม่โดยใช้ฟันซี่นั้นได้อีกหรือไม่คะ
 

 

อมรา/อุดรธานี

 

ตอบ
จากจดหมายของคุณที่เขียนมาปรึกษาเรื่องการผุของฟัน การมีกลิ่นปากและการรักษาฟันปลอมนั้น ขอตอบปัญหาของคุณเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. โดยทั่ว ๆ ไป การเกิดกลิ่นปากอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น จากโรคของระบบการย่อยอาหาร จากโรคของระบบหายใจ หรือจากโรคที่เกิดขึ้นในช่องปากโดยตรง กรณีของคุณนั้น เนื่องจากคุณมีฟันผุหลายซี่และบางซี่ก็ผุมากจนเหลือเพียงครึ่งซี่เท่านั้น เมื่อกินอาหารจะมีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามโพรงของฟันที่ผุ เมื่อสะสมอยู่นาน ๆ ก็ทำให้เกิดมีกลิ่นเหม็นได้
นอกจากนี้การที่ฟันผุมากและลึกเข้าไปในเนื้อฟัน อาจทำให้เกิดการอักเสบและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้
อีกประการหนึ่ง การที่คุณใส่ฟังชนิดที่มีฐานหรือโครงฟันนี้ ถ้ารักษาความสะอาดไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะในการกินอาหารทุกครั้ง จะมีเศษอาหารบางส่วนลอดเข้าไปติดอยู่ใต้ฐานของฟันปลอม ถ้าไม่ได้ถอดออกมาล้างให้สะอาด เศษอาหารที่ติดอยู่จะบูดเน่าและเกิดกลิ่นได้

2. การรักษาและการทำความสะอาดฟันปลอม ทำได้โดยการถอดฟันปลอมออกมาล้างให้สะอาดทุกครั้งหลังการกินอาหาร การล้างอาจใช้น้ำสะอาดอย่างเดียว หรือใช้แปรงและยาสีฟันช่วยในการล้างก็ได้ ก่อนเข้านอนควรถอดฟันปลอมออก แช่น้ำธรรมดา หรือน้ำที่ผสมน้ำยาบ้วนปากลงไป 1-2 หยด เพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดอยู่ที่ฟันปลอม อย่าทิ้งฟันปลอมไว้โดยไม่แช่น้ำ หรือเก็บไว้ในที่ ๆ อุณหภูมิสูง หรือในที่ ๆ ร้อน เพราะจะทำให้ฐานของฟันปลอมร้าว หรือบิดเบี้ยวได้ อายุฟันปลอมไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา แต่ถ้าใช้ฟันปลอมไประยะหนึ่งแล้วรู้สึกหลวมก็ควรปรึกษาทันตแพทย์

3. ฟังที่แตกออกไปครึ่งซี่ ถ้าจะถอนออกทุกซี่ก็อาจทำได้ แต่ก็ไม่ดีเท่ากับกับการที่จะบูรณะเอาไว้ เท่าที่จะทำได้ ฟันที่ผุมาก ๆ จนถึงประสาทฟัน ก็อาจทำการรักษาคลองรากฟันแล้วทำการบูรณะ ซึ่งอาจจะเป็นการอุด หรือครอบ แล้วแต่ความเหมาะสม แต่ถ้าคุณต้องการถอน หลังจากถอนควรใส่ฟันปลอมแทนฟันที่ถอนไป ถ้าไม่ใส่ ฟันที่อยู่ข้างเคียงกับฟันที่ถูกถอนอาจจะเคลื่อนที่ไปจากเดิม หรือล้มลง (เอียงลง) เข้าหาส่วนที่เป็นช่องว่างนั้น ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อการบดเคี้ยว ทำให้การบดเคี้ยวได้ไม่สมบูรณ์ และอาจทำให้เกิดอาการปวดที่ข้อต่อของกรรไกรในขณะบดเคี้ยวได้

4. การที่คุณต้องการทำฟันปลอมใหม่ และต้องการใช้ซี่ฟันที่มีอยู่อาจทำได้แต่ไม่ดีนัก เพราะฟันที่ใช้แล้ว จะถูกกรอตัดบางส่วนออกเพื่อให้เข้ากับลักษณะของบริเวณที่ต้องการใส่ในขณะนั้น เมื่อทำใหม่ โครงสร้างของช่องปากในบริเวณนั้น อาจเปลี่ยนไปทำให้ฟันปลอมซี่นั้น ไม่เหมาะสมกับช่องว่างที่บริเวณดังกล่าวหรือทำแล้วไม่สวย หรือไม่เข้ากับฟันข้างเคียง นอกจากนี้ ฟันที่ใช้แล้วจะดูดซับเอากลิ่นและสารบางอย่างเข้าไว้ด้วย เมื่อนำมาเชื่อมต่อกับฐานใหม่ รายต่ออาจจะไม่เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน อาจหลุดออกจากกันได้โดยง่าย
ดังนั้นเพื่อความสวยงาม ความคงทนของฟันปลอม และประสิทธิภาพการบดเคี้ยวที่ดีขึ้น จึงควรเปลี่ยนฟันซี่ใหม่มากกว่าใช้ฟันเดิม


พ.ญ. สายใจ มธุราสัย