Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็นสัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
กินแคลเซียมเสี่ยงต่อโรคหัวใจหรือไม่
Mark J Bolland, et al. Vascular events in healthy older women receiving calcium supplementation : randomised controlled trial. BMJ 2008;336:262-6.
เคยมีการศึกษาพบว่ากินแคลเซียม อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในหญิงหลังหมดประจำเดือน โดยแคลเซียมช่วยเพิ่มอัตราส่วนของ HDL ต่อ LDL ประมาณร้อยละ 20. ทั้งนี้โดยการที่แคลเซียมจะจับกับกรดไขมันทำให้ลำไส้ดูดซึมไขมันน้อยลง. อย่างไรก็ตาม ยังขาดการศึกษาแบบทดลองยืนยันถึงผลดีของการกินยาแคลเซียมต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด. การศึกษาในนิวซีแลนด์นี้ทำในสตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว จำนวน 1,471 คน แบ่งแบบสุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 732 คน ให้กินแคลเซียมเสริมวันละ 1 กรัม และกลุ่มควบคุม 739 คนให้ยาหลอก. ดัชนีชี้วัดหลักคือผลข้างเคียงทางโรคหัวใจและหลอดเลือดในเวลา 5 ปี ได้แก่ การตายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง.
ผลการศึกษาพบว่า อุบัติการณ์ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจในกลุ่มได้ยาแคลเซียมเสริมมากกว่ากลุ่มควบคุม 2.1 เท่า อย่างมีนัยสำคัญ (95% CI RR = 1.01, 4.47) เมื่อเทียบอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน พบว่ากลุ่มได้แคลเซียมมีสูงกว่ากลุ่มควบคุม 1.5 เท่า แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (95% CI RR= 0.97, 2.2).
สรุปว่าการกินแคลเซียมเสริมในสตรีหมดประจำเดือนแล้วเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ดังนั้นการให้แคลเซียมเสริมในหญิงหมดประจำเดือนเพื่อให้กระดูกแข็งแรงนั้น ต้องเทียบข้อดีกับผลเสีย.
ในการศึกษานี้ยังมีจุดที่เป็นข้อโต้แย้งได้หลายประการ ได้แก่ ขนาดตัวอย่างน้อย, กลุ่มที่ได้แคลเซียม มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มควบคุมเล็กน้อย. นอกจากนี้มีสัดส่วนของคนเป็นความดันเลือดสูงและไขมันในเลือดสูง รวมทั้งคนที่เคยมีประวัติ stroke ก็สูงกว่ากลุ่มควบคุมเล็กน้อยเช่นกัน ทำให้มีข้อสงสัยว่าการศึกษายังอาจควบคุมปัจจัยกวนเหล่านี้ได้ไม่ดีพอ. ประการสุดท้ายคือ compliance ของกลุ่มแคลเซียม มีเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น.
ฟุตบอลโลกกับโรคหัวใจ
Wilbert-Lampen U, et al. Cardiovascular Events during World Cup Soccer. N Engl J Med 2008;358: 475-83.
คงได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ ที่ทำให้ผู้คนเกิดความตื่นเต้น ตระหนก เช่น แผ่นดินไหว สงคราม หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬา จะมีคนเป็นโรคหัวใจมากขึ้นเนื่องจากเกิดความเครียด ตื่นเต้น. งานวิจัยนี้ศึกษาว่า เมื่อคราวที่มีการแข่งขันฟุตบอล FIFA เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน-9 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เป็นเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจฉุกเฉินในคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วมากขึ้นหรือไม่.
การศึกษานี้ทำในบาวาเรีย ประเทศเยอรมันนีเปรียบเทียบอุบัติการณ์โรคหัวใจที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแข่งขันกับอุบัติการณ์ของโรคในช่วงวันเวลาอื่น ซึ่งไม่เหตุการณ์หรือการแข่งขันกีฬาสำคัญ (ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-8 มิถุนายน และ 10 กรกฎาคม-31 กรกฎาคม ของปี พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2548).
ผลการศึกษาพบว่า ในจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจ 4,279 คน ในวันที่ทีมเยอรมันลงแข่ง อุบัติการณ์ของโรคหัวใจเพิ่มขึ้น (เฉลี่ย 43 ราย/วัน) กว่าวันที่เยอรมันไม่ได้ลงแข่ง (18 ราย) และสูงเป็น 2.7 เท่า ของช่วงเวลาอื่น (14 ราย) ในผู้ชายเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่า ส่วนผู้หญิงเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า.
ในวันที่ทีมเยอรมันลงแข่งนั้น อุบัติการณ์สูงสุด ในช่วง 2 ชั่วโมงแรกหลังการแข่งขันเริ่มต้น. ในรายที่อาการรุนแรงพบว่า เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย (ที่มี ST-segment ทั้งที่ยกสูงและไม่ยกสูง) มากเป็น 2.5-2.6 เท่า และนอกจากนี้ยังมีอุบัติการณ์หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็น 3.1 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น. สำหรับสัดส่วนของคนที่เกิดภาวะหัวใจวายในวันที่ทีมเยอรมันลงแข่งนั้น ร้อยละ 47 เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ในขณะที่เวลาปกติมีเพียงร้อยละ 29 จำนวน คนที่มีหัวใจวายนั้นมีความแตกต่างระหว่างนัดการแข่งขันโดยในนัดแรกที่เยอรมันพบกับคอสตาริกานั้นมีผู้ป่วยเกิดเหตุหัวใจวายกว่า 40 ราย นัดที่ 2 พบโปแลนด์จำนวนยิ่งมากขึ้นไปอีกถึง 50 ราย ส่วนนัดที่ 3 นั้นจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจน อาจเนื่องจากนัดนี้เยอรมันได้เข้ารอบ 2 แล้ว ไม่ว่าผลการแข่งขันจะแพ้หรือชนะ. จากนั้นจำนวนผู้ป่วยมากอีกในนัดที่พบอาเจนติน่า โดยชนะลูกโทษ และรอบรองชนะเลิศ ซึ่งเยอรมันแพ้อิตาลี ตกรอบเข้าชิงชนะเลิศ ทั้ง 2 วันนี้ มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดเกินวันละ 60 ราย.
โดยสรุปแล้วการดูฟุตบอลทำให้เกิดความเครียดและเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายมากกว่าปกติเท่าตัว โดยเฉพาะในคนที่โรคหัวใจอยู่แล้ว.
วิชัย เอกพลากร พ.บ.,
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 9,312 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้