เว็บไซต์วารสารคลินิกเปิดให้บริการแก่ทุกท่านที่สนใจในการส่งคำถามที่ท่านมี ข้อสงสัยเกี่ยวกับเวชปฏิบัติการใช้ยา และเรื่องราวที่น่าสนใจทางการแพทย์และ เวชปฏิบัติทุกสาขาทางอินเตอร์เน็ต
ปัญหาเวียนศีรษะ
Q อยากทราบแนวทางการวินิจฉัยแยกโรคผู้ป่วยที่มาด้วยเรื่องเวียนศีรษะ
วรวิทย์ อึ้งภูริเสถียร
A ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเวียนศีรษะ จะแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. Peripheral vestibular disorder ซึ่งหมายถึง ความผิดปกติที่ labyrinth หรือ vestibular nerve.
2. Central vestibular disorder ซึ่งหมายถึง ความผิดปกติที่ brain stem หรือ cerebellum.
ในกรณีของ peripheral vestibular disorder ซึ่งพบได้บ่อยในการตรวจเวชปฏิบัติทั่วไป สิ่งที่สำคัญคือการซักประวัติ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงลักษณะของอาการเวียนศีรษะ โดยการซักประวัติควรจะซักในประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่
- ระยะเวลาที่มีอาการเวียนศีรษะ เช่น เป็นนาที, ชั่วโมง, วัน.
- ความถี่ที่เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ทุกวัน, ทุกเดือน.
- การเคลื่อนไหวของศีรษะ มีผลกับอาการเวียนศีรษะหรือไม่.
- ลักษณะท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น การพลิกตัวไปทางซ้าย หรือทางขวา ขณะนอนบนเตียง.
- อาการร่วมอื่นๆ เช่น การได้ยินลดลง หรือเสียงดังในหู.
- มีโรคทางหูเป็นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น น้ำไหลจากหู, การบาดเจ็บบริเวณหู, เคยผ่าตัดเกี่ยวกับหูมาก่อนหรือไม่.
ซึ่งข้อมูลที่สำคัญ คือ ระยะเวลาที่มีอาการเวียนศีรษะ ซึ่งใช้ในการแยกโรคได้ ดังนี้
1. อาการเวียนศีรษะ ระยะเวลาเป็นนาที หรือชั่วโมง เช่น Meniere's disease.
2. อาการเวียนศีรษะ ระยะเวลาเป็นวินาที เช่น benign paroxysmal positional vertigo (BPPV).
3. อาการเวียนศีรษะ ระยะเวลาเป็นวัน เช่น vestibular neuronitis.
4. อาการเวียนศีรษะ ระยะเวลาไม่แน่นอน เช่น inner ear fistula, inner ear trauma.
พิบูล วชิรลาภไพฑูรย์ พ.บ.
โสต ศอ นาสิกแพทย์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
วันต้อหินโลก
Q เมื่อต้นเดือนมีนาคม ได้ข่าวว่ามีงานจัดงานวันต้อหินโลกขึ้นตามโรงพยาบาลต่างๆ อยากทราบว่าโรคต้อหินมีความสำคัญและน่ากลัวอย่างไร
รัชดาภรณ์ ตันติมาลา
A ต้อหินคือ ภาวะที่ตามีความดันลูกตาสูงเกินไป บางครั้งสูงมากจนตาแข็งเหมือนหิน จึงเป็นที่มาของชื่อต้อหิน โรคต้อหินพบไม่บ่อยเท่าต้อกระจก แต่น่าจะร้ายแรงกว่าเนื่องจากถ้าไม่รักษาหรือรักษาช้าจะทำให้ตาบอดหรือมัวมาก และรักษาให้กลับมาเห็นดีขึ้นไม่ได้ด้วย ขณะที่ต้อกระจกในผู้ใหญ่แม้เป็นมาก แล้ว แต่พอผ่าตัดเมื่อใดตาก็มักจะกลับมามองเห็นได้ดี.
ต้อหินคือ โรคของตาชนิดหนึ่ง ที่มีการเสื่อมของประสาทตา ทำให้มีลานสายตาแคบลง มีตามัวจนถึงตาบอดได้ เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดต้อหิน. ปัจจัยหนึ่งคือความดันตาที่สูงเกินไป ทำให้เกิดการกดที่เซลล์ประสาทตา เป็นผลให้มีประสาทตาเสื่อมตามมา. ปกติตาคนเราจะมีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงขึ้นภายในลูกตาตลอดเวลา และน้ำหล่อเลี้ยงตานี้ก็จะระบายออกจากตาตลอดเวลาเช่นกันในปริมาณเท่ากับที่สร้างขึ้น เมื่อใดก็ตามที่สมดุลนี้เสียไปคือมีการระบายออกน้อยกว่าสร้าง จะทำให้มีการคั่งของน้ำในลูกตา จึงมีความลูกตาสูงมากเกินไปตามมา เกิดภาวะต้อหินขึ้นได้.
สาเหตุของต้อหิน
♦ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง.
♦ หยอดยาประเภทสตีรอยด์เป็นประจำ.
♦ มีการอักเสบเรื้อรังของลูกตา.
♦ สาเหตุอื่นๆเช่นอุบัติเหตุที่ตา, ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน.
วันต้อหินโลกกำหนดให้ทุกวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันต้อหินโลก โดยเชิญชวนให้จักษุแพทย์ทุกประเทศทั่วโลก ร่วมจัดงานให้ความรู้แก่ประชาชน ให้บริการตรวจสุขภาพตาแก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
1. กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความอันตรายของโรคต้อหิน.
2. รับกับจักษุแพทย์ทั่วโลกในการจัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วโลก ในนามของประเทศไทย.
ซึ่งประชาชนทั่วไปที่สนใจ หรือผู้ป่วยโรคต้อหิน สามารถติดตามข่าวเพื่อร่วมกิจกรรมได้ในทุกวันที่ 6 มีนาคมของทุกปีครับ.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 6,544 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้