Q โรคจอประสาทตาเสื่อมคืออะไร
A โรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่จุดรับภาพของจอประสาทตา โรคนี้ทำให้สูญเสียการมองเห็นโดยเฉพาะกลางภาพ ซึ่งสามารถมองเห็นขอบด้านข้างของภาพได้ เช่น มองเห็นตัวคน ส่วนของใบหน้าเบลอมองเห็นไม่ชัด. ผู้ป่วยบางรายเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาขึ้นอย่างช้าๆ จนแทบไม่ทันสังเกตเห็น ขณะที่บางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาอย่างรวดเร็ว โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุตั้งแต่อ่ายุ 50 ปีขึ้นไป เรียกว่า Age-related macular degeneration (AMD).
Q จุดรับภาพคืออะไร
A จุดรับภาพหรือจุดศูนย์กลางรับภาพชัด (macular) อยู่บริเวณจุดกลางของจอประสาทตา เป็นบริเวณ ที่สำคัญที่สุดบนจอประสาทตา ที่จะทำให้สามารถมองเห็นภาพต่างๆ ได้ชัดเจน เป็นบริเวณที่เซลล์มีความไวแสงมากที่สุด ทำหน้าที่รับแสงและส่งออกไปยังสมอง ในรูปของสัญญาณไฟฟ้าไปทางกระแสประสาท ทำให้เราเห็นภาพได้ ถ้าจุดกลางรับภาพนี้เสีย จะทำให้มองภาพไม่ชัด เห็นเหมือนมีจุดดำบังตรงกลางหรือเห็นภาพบิดเบี้ยวไป.
Q สาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม
A สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคนี้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์จอประสาทตา มีการบางตัวลงของเซลล์ มีการสะสมของเสียจากเซลล์จอประสาทตา ทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์รับภาพมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วมักพบในผู้สูงอายุ จึงทำให้เชื่อว่าเป็นกระบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย. นอกจากนี้ยังมีหลายภาวะที่พบว่าทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ เช่น คนที่มีสายตาสั้นมากๆ (pathologic myopia) หรือในโรคติดเชื้อบางอย่าง.
Q ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม
A แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุของโรคเกิดขึ้น ได้อย่างไร แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงมาจากหลายปัจจัย. ผลการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบัน พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ ได้แก่
1. อายุ พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป.
2. พันธุกรรม จากการวิจัยล่าสุด สามารถค้นพบยีนที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาเสื่อม ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคกับญาติสายตรง ควรได้รับการตรวจเช็กจอประสาทตาทุก 2 ปี.
3. เชื้อชาติ พบอุบัติการณ์ของโรคจอประสาทตาเสื่อมมากในคนผิวขาว (caucasian).
4. เพศ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย.
5. บุหรี่ ควรหยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างน้อย 6 เท่ามากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่.
6. ความดันเลือดสูง ผู้ป่วยที่ต้องกินยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูงและระดับ carotenoid ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม.
7. โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักมากอาจทำให้โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นมากขึ้น.
Q โรคจอประสาทตาเสื่อมแบ่งออกได้เป็นกี่ชนิด
A แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ตามลักษณะของโรค
1. แบบแห้ง (Dry AMD) เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด จะมีการเสื่อมสลาย และบางลงของจุดกลางรับภาพจอประสาทตา จากกระบวนการเสื่อมตามอายุ (aging) อย่างช้าๆ ความสามารถในการมองเห็นโดยเฉพาะบริเวณตรงกลางภาพจะค่อยๆ ลดลง.
2. แบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณร้อยละ 10-15 ของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด แต่มีลักษณะการเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในโรคจอประสาทตาเสื่อม เกิดจากการที่เซลล์จอประสาทตาเสื่อม บางลง และที่สำคัญคือมีหลอดเลือดงอกใหม่ ซึ่งจะเปราะบางและรั่วซึมได้ง่าย ทำให้มีเลือดและสารคัดหลั่งค้างอยู่ในและอยู่ระหว่างเซลล์ ทำให้จุดกลางรับภาพบวม ท้ายสุดเกิดการทำลายจอประสาทตา ได้อย่างรวดเร็วกว่าชนิดแห้ง ทำให้มีการสูญเสียสายตา ได้รวดเร็วกว่าชนิดแห้ง.
วิทยาการสมัยใหม่มีเพิ่มขึ้นทุกวันในการดูแลรักษาผู้ป่วย บางครั้งแพทย์โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่อาจมีปัญหาในการตอบคำถาม หรือสื่อสารกับผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งอาจดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆ สั้นๆ แต่จะตอบให้เข้าใจตรงกันได้ยาก ถ้ามีแนวทางในการตอบคำถามและสื่อสารกับผู้ป่วยให้เข้าใจโรคของตนเอง ก็จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างสมบูรณ์และดียิ่งขึ้น
บรรณาธิการ
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้นิพนธ์
ณวพล กาญจนารัณย์ พ.บ.,
รองศาสตราจารย์ จักษุแพทย์
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 5,415 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้