Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็น สัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
กินฮอร์โมนเสี่ยงต่อโรคถุงน้ำดีหรือไม่
Bette Liu, et al, for the Million Women Study Collaborators. Gallbladder disease and use of transdermal versus oral hormone replacement therapy in postmenopausal women : prospective cohort study. BMJ 2008;337:a386
การวิจัยที่ผ่านมาพบการกินฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เสี่ยงต่อโรคถุงน้ำดีอักเสบเนื่องจากฮอร์โมนที่กินต้องถูกเมตาบอไลซ์ที่ตับก่อนเข้าสู่กระแสเลือด. ดังนั้น จึงมีสมมติฐานว่า หากใช้ฮอร์โมนแบบแปะผิวหนังซึ่งยาสามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายไม่ต้องผ่านทางตับน่าจะลดความเสี่ยงนี้.
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่าการใช้ฮอร์โมน เอสโตรเจนแบบแปะผิวหนังมีความเสี่ยงต่อโรคถุงน้ำดีในหญิงที่หมดประจำเดือนน้อยกว่าการใช้ฮอร์โมนแบบกินหรือไม่ โดยศึกษาในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน แล้วที่มาเข้าโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ในอังกฤษและสก็อตแลนด์ ระหว่างปี พ.ศ. 2539-2544.
ตัวชี้วัดของการวิจัยคือ อุบัติการณ์ของการเข้ารับการรักษาด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบ หรือได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดี.
ผลการศึกษา จากสตรีจำนวนทั้งหมด 1,001,391 คน พบว่ามี 19,889 คนที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคทางถุงน้ำดี ได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดีจำนวน 17,190 คน เมื่อคิดอัตราเสี่ยงพบว่า กลุ่มที่ใช้ฮอร์โมนมีความเสี่ยงต่อการเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคถุงน้ำดีเป็น 1.64 (95% CI 1.58, 1.69) เท่าของคนที่ไม่เคยใช้ฮอร์โมน โดยกลุ่มที่ใช้แบบปะผิวหนังมีอัตราเสี่ยง (RR 1.17, 95% CI 1.10, 1.24) ต่ำกว่ากลุ่มที่ใช้ยากิน (RR 1.74 95%CI 1.68, 1.80). สำหรับในกลุ่มที่ใช้ฮอร์โมน แบบกินนั้น ฮอร์โมนชนิด equine estrogen มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าฮอร์โมน estradiol เล็กน้อย (RR 1.79 vs RR 1.62) โดยยิ่งกินขนาดสูงมีอัตราเสี่ยงสูงขึ้น ระยะเวลาที่เลิกกินนานขึ้นทำให้ความเสี่ยงลดลง. สำหรับอัตราการเข้ารับผ่าตัดถุงน้ำดีเฉลี่ยต่อสตรี 100 คนในเวลา 5 ปี ในกลุ่มไม่เคยใช้ฮอร์โมนเท่ากับ 1.1 คน กลุ่มใช้แบบปะผิวหนัง 1.3 และกลุ่มกินฮอร์โมนเท่ากับ 2.0 คน.
สรุป โรคของถุงน้ำดีเป็นโรคที่พบบ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือน การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ส่วนการใช้ฮอร์โมนแบบปะผิวหนังมีความเสี่ยงน้อยกว่าแบบกิน.
IV catheter จำเป็นต้องเปลี่ยนทุก 3 วันหรือไม่
Webster J, et al. Routine care of peripheral intravenous catheters versus clinically indicated trial. BMJ 2008;337:a339.
ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมักได้รับการใส่สายเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous catheterisation, IV cath) เพื่อให้น้ำเกลือ. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น หลอดเลือดอักเสบ พบประมาณร้อยละ 2.3-67 และมีโอกาส (น้อย) ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด (ร้อยละ 0.1) ด้วย. วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้มีหลายวิธี วิธีที่ปฏิบัติมากที่สุดคือ การเปลี่ยน catheter เป็นระยะๆ CDC ของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าควรเปลี่ยนทุกๆ 72-96 ชั่วโมง แต่ข้อเสนอนี้มีหลักฐานวิจัยสนับสนุนน้อยมาก. การศึกษาต่อมาพบว่าสามารถ catheter คาไว้นานกว่านี้ได้ และงานวิจัยที่ประเมินผลว่าควรใส่นานเท่าใดจึงเหมาะสมยังมีน้อย ดังนั้นจึงเกิดการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างการเปลี่ยน IV catheter เป็นระยะๆ กับการเปลี่ยนเมื่อมีข้อบ่งชี้.
การศึกษานี้ทำในประเทศออสเตรเลีย นักวิจัยศึกษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ได้รับการใส่ IV catheter 2 กลุ่ม กลุ่มแรก (กลุ่มทดลอง) เปลี่ยน IV catheter เมื่อมีข้อบ่งชี้ (เส้นอักเสบ แตก ฯลฯ) ส่วนอีกกลุ่มชี้วัดหลักของการศึกษาคือ การเกิดหลอดเลือดอักเสบ ตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่วนตัวชี้วัดรองคือ ค่าใช้จ่าย.
ผลการศึกษา จำนวนผู้ป่วยในการทดลองนี้รวม 755 คน พบว่า กลุ่มเปลี่ยนเมื่อมีข้อบ่งชี้มีหลอดเลือดอักเสบ หรือหลอดเลือดแตก ร้อยละ 38 (143 ใน 379 คน) ส่วน กลุ่มควบคุม มีร้อยละ 33 (123 ใน 376 คน) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (RR 1.15 (95% CI 0.95, 1.40) เมื่อคิดเป็นอัตราของการมีหลอดเลือดอักเสบต่อการใส่ catheter 1,000 วัน พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน และเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย พบว่ากลุ่มทดลองมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากลุ่มควบคุมร้อยละ 25.
สรุป อาจใส่คา IV catheterไว้นานกว่า 3 วันได้ ถ้าไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน การเปลี่ยน catheter เมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้นทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่เสี่ยงต่ออัตราหลอดเลือดอักเสบ อย่างไรก็ตามควรมีการวิจัยเพิ่มเติมด้วยจำนวนกลุ่มทดลองมากกว่านี้.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 4,739 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้