Q จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
A ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจแสดงอาการแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะมีอาการตามัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกลางภาพ มีความลำบากในการอ่านหนังสือหรือทำงานละเอียดและต้องใช้แสงมากๆ อาจเห็นภาพบิดเบี้ยว (distortion) ในโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก.
ความผิดปกติในการมองเห็นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค อาจยากต่อการสังเกตโดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี. ตามคำแนะนำของวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา "บุคคลทั่วไปอายุระหว่าง 40-64 ปี ที่ไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา (รวมทั้งตรวจจอประสาทตา) ทุก 2-4 ปี. สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1-2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติอะไร" เนื่องจาก การที่ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงความผิดปกติจากโรคจอประสาทตาเสื่อม ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในขณะเดียวกัน การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะว่าจอประสาทตาที่เสื่อมเสียไปแล้ว มีแต่จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาในปัจจุบันจึงทำได้เพียงหยุดหรือชะลอการเสื่อมเสียของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลย ถ้าโรคเป็นรุนแรง.
Q จะตรวจหาภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้อย่างไร
A สามารถตรวจหาได้หลายวิธี
1. การตรวจสายตาทำโดยใช้ Amsler Grid Eye Exam เพื่อทดสอบสภาพจอประสาทตา และการมองเห็น สามารถตรวจเช็กด้วยตนเองได้ที่บ้าน และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยไม่ต้องถอดแว่นตาหรือคอนแท็กเลนส์ที่ใส่อยู่ออก ถือแผ่นภาพในระยะเดียวกับเวลาที่อ่านหนังสือ และควรมีแสงสว่างเพียงพอ ใช้มือปิดตาข้างหนึ่งไว้ มองที่จุดสีดำตรงกลางแผ่นภาพด้วยตาข้างที่เปิดอยู่ ทำซ้ำเช่นเดียวกันกับตาอีกข้าง หากสายตาเห็นลายเส้นบนแผ่นภาพลักษณะเป็นคลื่น หงิกงอ ขาดจากกัน พร่ามัว บางพื้นที่หายไปจากพื้นที่ที่มองเห็น ควรรีบพบจักษุแพทย์.
ปกติ ผิดปกติ (จุดกลางมัว)
2. จักษุแพทย์จะทำการตรวจจอประสาทตาของท่านโดยใช้กล้องตรวจตา และอาจมีการตรวจพิเศษ ด้วยการฉีดสีถ่ายภาพจอประสาทตา หรือการตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางจอประสาทตา เพื่อดูลักษณะและขอบเขตความผิดปกติที่เกิดขึ้น.
Q ปัจจุบันสามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้โดยวิธีใดบ้าง
A แบ่งตามชนิดของโรคดังนี้
1. การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งให้หายขาดได้ เป็นเพียงการรักษาที่ป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น หรือเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก อีกทั้งการเสื่อมของจอประสาทตายังเป็นไปอย่าง ช้าๆ ดังนั้น ผู้ป่วยยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยแนะนำให้มาตรวจเช็กสายตาและควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นเพื่อป้องกันการเสื่อมลงของจอประสาทตา หรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยต่างๆ สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตา.
2. การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก
- การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ การฉายแสงเลเซอร์ลงบนจอประสาทตาส่วนที่มีพยาธิสภาพ จะยับยั้งหรือชะลอหลอดเลือดผิดปกติที่ทำให้เกิดเลือดออกใต้จอประสาทตาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่เสียไปกลับคืนมา หรือรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยคงสภาพการมองเห็นให้เหลือไว้ได้มากกว่าการที่ไม่ได้รับการรักษาเลย.
ผิดปกตื (เห็นเส้นบิดเบี้ยว)
- การรักษาด้วยยากลุ่ม Anti-VEGF (Anti-vascular endothelial growth factor) เป็นการฉีดเข้าไปยังน้ำวุ้นลูกตา ภายในเยื่อบุตาขาว เพื่อยับยั้งกระบวนการสร้างหลอดเลือดจากหลอดเลือดที่งอกใหม่บริเวณจุดรับภาพนั้น ซึ่งยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ไปจับกับสาร VEGF ที่เป็นต้นเหตุการเกิดโรค ลดการงอกของหลอดเลือดใหม่ และการอักเสบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลุกลามโรค. ปัจจุบันยากลุ่มนี้ที่นำมาใช้ฉีดเข้าตามีอยู่หลายตัวเช่น pegaptanib ยาขนานนี้จะจับกับสาร VEGF เฉพาะตัวที่เป็นต้นเหตุการณ์เกิดโรค ranibizumab เป็นยาที่จับกับสาร VEGF ทั้งหมด จากการวิจัยโดยการฉีดยาในกลุ่ม ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกทุกๆ 4-6 สัปดาห์ เป็นเวลา 2 ปี พบว่าร้อยละ 33 ของผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยา มองเห็นชัดขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการยิงเลเซอร์ มีเพียงแค่ร้อยละ 6 เท่านั้นที่มองเห็นชัดขึ้น.
Q โรคจอประสาทตาเสื่อมสามารถป้องกันได้โดยวิธีใดบ้าง
A ถึงแม้โรคจอประสาทตาจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และการรักษาในปัจจุบันเป็นเพียงชะลอการสูญเสียสายตา แต่ท่านก็สามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่น
- หมั่นตรวจเช็กสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาเสื่อม.
- งดสูบบุหรี่.
- เลือกกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ได้แก่ ผักใบเขียว และผลไม้.
- กินวิตามินเสริม มีการวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม พบว่า การกินวิตามินซี 500 มก. วิตามินอี 400 IU เบต้าแคโรทีน 15 มก. สังกะสี 80 มก. และคอปเปอร์ 2 มก. จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นจากภาวะจอประสาทตาเสื่อมอย่างรุนแรงลงได้ร้อยละ 25 แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรค หรือมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่เริ่มมีจอประสาทตาเสื่อมเล็กน้อย.
- กินปลา กรดไขมันชนิด omega-3 ที่พบมากในเนื้อปลา จะสามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้.
วิทยาการสมัยใหม่มีเพิ่มขึ้นทุกวันในการดูแลรักษาผู้ป่วย บางครั้งแพทย์โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่อาจมีปัญหาในการตอบคำถาม หรือสื่อสารกับผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งอาจดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆ สั้นๆ แต่จะตอบให้เข้าใจตรงกันได้ยาก ถ้ามีแนวทางในการตอบคำถามและสื่อสารกับผู้ป่วยให้เข้าใจโรคของตนเอง ก็จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างสมบูรณ์และดียิ่งขึ้น
บรรณาธิการ
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้นิพนธ์
ณวพล กาญจนารัณย์ พ.บ.,
รองศาสตราจารย์ จักษุแพทย์
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 30,238 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้