อยากทราบแนวทางประเมินผู้ป่วยตาบอด
Q อยากเรียนว่าแนวทางการประเมินเพื่อให้คำแนะนำผู้ป่วยตาบอด ว่าจะมีโอกาสรักษาให้กลับมามองเห็นได้หรือไม่อย่างไร และสามารถให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างไร.
นพ.วุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์
A โดยทั่วไป ถ้าตาข้างที่บอดนั้นไม่สามารถมองเห็นได้แม้แต่แสงสว่างแล้ว มักไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ แต่ต้องเป็นการตรวจที่ถูกวิธี กล่าวคือใช้บริเวณฝ่ามือปิดที่ตาอีกข้าง และใช้ไฟฉายซึ่งต้องมีความสว่างเต็มที่และไม่มีวงมืดตรงกลางส่องไปที่ตาข้างที่จะทดสอบ บอกผู้ป่วยก่อนว่าอย่างไรคือมีไฟและอย่างไรคือไม่มีไฟ แล้วทดสอบหลายๆครั้ง ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถบอกได้เลยว่ามีไฟส่องหรือไม่ มักไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้อีก แต่ถ้ายังสามารถมองเห็นแสงไฟได้ดี ควรแนะนำพบจักษุแพทย์เพื่อประเมินซ้ำว่ายังสามารถให้การรักษาให้กลับมามองเห็นอีกได้หรือไม่.
ในกรณีที่ตาบอดหรือสายตาเลือนรางที่จักษุแพทย์วินิจฉัยว่าไม่สามารถรักษาให้มองเห็นดีขึ้นได้ อาจปรึกษาจักษุแพทย์ถึงการใช้เครื่องมือช่วยสายตาเลือนราง เช่นกล้องส่องขยาย แว่นขยายสำหรับอ่านหนังสือ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้.
ข้อแนะนำการป้องกันตาบอดสำหรับคนทั่วไป คือ
- การระวังภยันตรายต่อดวงตา เช่น ใส่อุปกรณ์หน้ากากป้องกัน ในขณะทำงานที่มีความเสี่ยง การรัดเข็มขัดนิรภัยขณะขับหรือนั่งรถ เพื่อป้องกันหน้ากระแทกกระจกรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ.
- การตรวจสุขภาพตาและวัดความดันลูกตาเพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินทุกปี ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว.
- การควบคุมโรคทางกายที่อาจมีผลต่อดวงตา เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน หรือใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการลดต่ำของภูมิคุ้มกัน (CD4+) ในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น.
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตาใช้เอง เช่นยากลุ่มสตีรอยด์ อาจทำให้ตาบอดจากโรคต้อหินได้.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไซนัสอักเสบ
Q การรักษาไซนัสอักเสบในเด็ก ในกรณีที่ได้ให้ยารักษาแล้วยังไม่ดีขึ้น มีแนวทางการรักษาอย่างไรต่อไป.
กิตติศักดิ์ วงศ์อมร
A การรักษาไซนัสอักเสบในเด็ก กรณีที่ได้ให้ยารักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น การรักษาต่อไปคือการทำหัตถการหรือการทำผ่าตัด.
อย่างไรก็ตาม ก่อนการพิจารณาผ่าตัด ต้องมีการประเมินผู้ป่วยในด้านต่างๆ ก่อน ได้แก่ การตรวจในโพรงจมูกว่ามี mechanical obstruction หรือไม่ เช่น choanal atresia, deviated nasal septum, nasal polyp, tumor เป็นต้น. ประเมินว่าผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสมแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์, ประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะภูมิแพ้ด้วยหรือไม่, มี systemic disease อื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น cystic fibrosis, ciliary dyskinesia, immune deficiency เป็นต้น.
หัตถการหรือการผ่าตัดที่มีการทำ ได้แก่
1. Antral lavage คือ การเจาะล้างไซนัสใต้ต่อ inferior turbinate แต่ในกรณีเด็กเล็กที่ floor ของ maxillary sinus ยังโตไม่เต็มที่จะไม่สามารถทำได้ การเจาะล้างไซนัสได้ประโยชน์ทั้งการรักษาและ การวินิจฉัย เนื่องจากสามารถนำ fluid ไปเพาะเชื้อได้.
2. Tonsillectomy และ adenoidectomy
การผ่าตัด tonsillectomy และ adenoidectomy อาจไม่ได้รักษาไซนัสอักเสบโดยตรง แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีต่อมทอนซิลอดีนอยด์ที่ใหญ่ จะทำให้มี nasal airway obstruction และการคั่งของ secretion หลังผ่าตัดจะทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น.
3. Inferior meatal antrostomy เป็นการเปิดช่อง drainage (window) บริเวณ inferior turbinate อาจไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากช่องของ window ไม่ตรงกับแนวทางพัดโบกของ cilia แต่อาจได้ประโยชน์ในผู้ป่วย ciliary dyskinesia เนื่องจากมีการ drain โดยใช้ gravity.
4. Endoscopic sinus surgery เป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดีในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถผ่าตัดเฉพาะบริเวณที่มีปัญหา obstruction สามารถ preserve normal mucosa ทำให้การ drain secretion เป็น physiologic มากขึ้น.
พิบูล วชิรลาภไพฑูรย์ พ.บ.
โสต ศอ นาสิกแพทย์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
- อ่าน 3,835 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้