ถาม ปัจจุบันมีการรักษาโรคข้อกระดูกชนิด ติดแข็งให้หายขาดได้หรือไม่หรือมีวิธีบรรเทาให้ข้อติดกันช้าลงอย่างไรได้บ้างครับ.
สมาชิก
ตอบ โรคข้อกระดูกชนิดติดแข็ง (ankylosing spondylitis) เป็นโรคในกลุ่มไขข้ออักเสบเรื้อรังชนิดแข็ง ซึ่งจะมีผลต่อข้อกระดูกหลังและข้อต่อกระดูกเชิงกราน เป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับยีนบางชนิด ดังนั้น จึงไม่หายขาด แต่โชคดีที่โรคดังกล่าวมีการดำเนินโรคจำกัด คือ อาการเริ่มเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และดำเนินต่อจนอายุ 40 ปี จะหยุดการดำเนินโรค ดังนั้นถ้าในช่วงอายุ ดังกล่าวผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการอักเสบของข้อ รักษาการเคลื่อนไหวของข้อที่สำคัญไว้ได้ เช่น ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกชายโครง (เพื่อการขยายตัวของปอด) ก็จะให้ผลการพยากรณ์โรคดี. โดยในระยะแรกอาจต้องใช้ยาลดอาการอักเสบช่วย ซึ่งปัจจุบันมียาดีๆ หลายขนาน แต่ที่สำคัญคือ การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ เพราะโรคดังกล่าวจะทำให้การขยายตัวของปอดไม่ดี การสูบบุหรี่ยิ่งทำให้ปอดทำงานลดลง หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าเดียวนานๆ และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเน้นการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง เช่น การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมีการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ และฝึกการหายใจ มีท่าออกกำลังกายเฉพาะอีกหลายชนิด ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาได้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู.
ธันย์ สุภัทรพันธุ์ พ.บ.
รองศาสตราจารย์, ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์
ถาม หญิงตั้งครรภ์เป็นอีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์ จะเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนหรือไม่.
สมาชิก
ตอบ การติดเชื้อ varicella ปฐมภูมิในระยะครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ (20 สัปดาห์) มีรายงานทารกที่คลอดมีแขน/ขาฝ่อ, พยาธสภาลักษณะแผลเป็น, พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวชะงักงัน, แผลเป็นผิวหนัง, chorioretinitis, ต้อกระจก, cortical atrophy, microcephaly, micropthalmus และ การเติบโตของทารกในครรภ์ชะงักงัน. ความเสี่ยงประมาณร้อยละ 2.1
การติดเชื้อ varicella ทุติยภูมิในหญิงตั้งครรภ์ 366 คน ไม่พบว่าทารกมีลักษณะอาการทางคลินิกของการติดเชื้อในครรภ์เลย.2
การติดเชื้ออีสุกอีใสในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ มีบางรายงานว่าภายใน 28 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ก็มีโอกาสเกิดกลุ่มอาการ varicella แต่กำเนิด.3
ในมารดาที่ติดเชื้ออีสุกอีใสภายใน 5 วันก่อนคลอด หรือ 2-5 วันหลังคลอด ทารกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีสุกอีใสจึงควรได้รับ zoster immune globulin และเฝ้าติดตามดูอาการถ้ามีลักษณะการติดเชื้อ หรือไม่แน่ใจให้รีบให้ acyclovir เลย การติดตามดูอาการของทารกบางรายงานก็แนะนำใน 10 วันแรก บางรายงานก็แนะนำถึงอายุ 1 เดือน เนื่องจากทารกเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง และกังวลว่าภูมิคุ้มกันไม่เท่าในเด็กโต.
เอกสารอ้างอิง
1. Pastuszak AL, Levy M, Schick B, et al. Outcome after maternal varicella infection in the first 20 weeks of pregnancy. N Engl J Med 1994 Mar 31; 330(13):901-5.
2. Enders G, Miller E, Cradock-Watson J, et al. :Consequences of varicella and herpes zoster in pregnancy : prospective study of 1739 cases. Lancet 1994; 343:1548-51.
3. Chickenpox, pregnancy and the newborn : a follow-up. Drug Ther Bull 2005; 43(12):94-5.
นิรันดร์ วรรณประภา พ.บ., รองศาสตราจารย์
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บรรณาธิการ
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ.
ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 14,329 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้