การใช้ยามีหลักการสำคัญเพื่อที่จะมุ่งเน้น ให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแต่ละราย โดยการที่ผู้ป่วยแต่ละรายควรได้รับยาที่เหมาะสมกับสภาวะของตน มีข้อบ่งใช้ที่เหมาะสม มีประสิทธิผลมากที่สุด มีความปลอดภัยมากที่สุด เอื้อให้เกิดการร่วมมือในการใช้ยามากที่สุด และมีราคาเหมาะสมกับเศรษฐฐานะของผู้ป่วย หรือที่สามารถจดจำได้ง่ายๆ ว่า IESAC เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ บุคลากรทางการแพทย์ควรคุ้นเคยกับปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา แนวทางการป้องกันและแก้ไข.
ปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา (Drug therapy problems; DTPs)
คือ เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ยา หรือคาดว่าอาจเกิดจากการใช้ยา ซึ่งอาจได้แก่
1. ผู้ป่วยได้รับยาที่ไม่เพียงพอต่อการรักษา
- เช่น ผู้ป่วยไอมาก โดยมักไอเวลาอากาศเย็น เนื่องจากอาการไอที่เกิดนั้นอาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีภาวะภูมิแพ้ และยังได้รับการกระตุ้นให้เกิดการแพ้อยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการได้รับยาแก้ไอเพียงอย่างเดียวจึงอาจยังไม่เพียงพอ ควรได้รับยาต้านฮิสตามีนร่วมด้วย.
- จำเป็นต้องได้รับยาขนานอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้ไปเสริมฤทธิ์ในการรักษากับยาเดิมที่ใช้อยู่.
- ควรได้ยาเพื่อป้องกันอาการหรือโรคที่อาจแทรกซ้อนขึ้นมาภายหลัง เช่น การได้รับยาฆ่าเชื้อในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเพื่อป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส.
2. ผู้ป่วยได้รับยาไม่เหมาะสม (wrong drug) เนื่องจาก
- เป็นยาที่ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา เช่น ในผู้ป่วย pharyngitis นั้น การเลือกใช้ยา amoxicillin มีความเหมาะกว่าการเลือกใช้ยา clarithromycin หรือมียาอื่นที่มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างแต่มีราคาถูกกว่าหรือมีความปลอดภัยมากกว่า เช่น กรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดด้านเศรษฐฐานะและมาด้วยอาการปวด. การเลือกใช้ยาแก้ปวดชนิด non-selective NSAIDs อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากกว่ายาในกลุ่ม selective ที่มีราคาแพงกว่าแต่ประสิทธิภาพอาจเทียบเท่ากันหรือเหนือกว่า.
- เป็นยาที่ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยา เช่น ผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลิน อาจจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มเพนิซิลลินหรือ cephalosporins ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพ้ข้ามกลุ่ม (cross reaction) หรือกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยากลุ่ม sulfonamides ควรระมัดระวังการใช้ยาอื่นๆ ที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้าย คลึงกับยา sulfonamide เช่น celecoxib เป็นต้น.
- เป็นยาที่มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วย เช่น ในผู้ป่วยโรคไต ไม่ควรใช้ยากลุ่ม NSAIDs.
3. ขนาดยาที่ผู้ป่วยได้รับน้อยจนเกินไป (dosage too low) อาจพิจารณาเพิ่มขนาดยาขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแทน เช่น ผู้ใหญ่ที่ได้รับยา Augmentinา(375) เพียง 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ซึ่งมีขนาดยาที่ค่อนข้างน้อย แต่หากได้รับ amoxicillin 500 มก. วันละ 3 ครั้ง ร่วมด้วยก็จะทำให้มีประสิทธิภาพที่เหมาะสม.
4. ขนาดยาที่ผู้ป่วยได้รับสูงจนเกินไป (dosage too high) เช่น ผู้ป่วยที่มีไตทำงานบกพร่องร่วมกับโรคข้อเสื่อมและจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่ม NSAID เพื่อบรรเทาอาการนั้นอาจจำเป็นต้องใช้ยาในขนาดสูง ควรพิจารณาปรับขนาดยาตามระดับการทำงานของไต.
5. เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug reaction) เช่น ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืดขณะเปลี่ยนอิริยาบถหลังการเริ่มใช้ยาลดความดันเลือด ผู้ป่วยจึงควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนอิริยาบถในช่วงแรกของการเริ่มใช้ยา ทั้งนี้ควรเริ่มใช้ยาในขนาดต่ำก่อนแล้วปรับขนาดยาตามอาการของผู้ป่วย.
6. ผู้ป่วยไม่ร่วมมือในการใช้ยา (compliance; adherence) อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
ก. ผู้ป่วยมีปัญหาการมองเห็น หรืออ่านหนังสือไม่ออก ต้องจำวิธีการใช้ยาเอง จึงเกิดความสับสนในการใช้ยา ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำวิธีการกินยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ หรือทำสัญลักษณ์ให้ผู้ป่วยง่ายต่อการเข้าใจการใช้ยา เป็นต้น.
ข. ผู้ป่วยทำงานกลางคืน จึงมีปัญหาเกี่ยวกับการกินยาในตอนเช้า ดังนั้นการปรับตารางเวลาในการใช้ยาให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นเพื่อที่จะเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา.
ค. เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง ได้รับยา beta - blocker แล้วพบว่าในช่วงแรกของการใช้ยา ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่มีแรง จึงเกิดความกลัวว่าอาการดังกล่าวคือ การแพ้ยา ผู้ป่วยจึงหยุดกินยา.
7. ผู้ป่วยสมควรได้รับยาเพิ่มเติม (need for additional drug therapy) เช่น ผู้ป่วยปวดท้อง มีอาการท้องอืด จุกเสียด เรอบ่อย ได้รับยา ranitidine เพื่อรักษาแผลในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจทำให้อาการท้องอืด จุกเสียดของผู้ป่วยแย่ลง ดังนั้นผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยา simethicone เพื่อขับลม หรือ prokinetic drug เช่น domperidone เพื่อปรับการทำงานของลำไส้ ให้เคลื่อนไหวเป็นปกติ.
เอกสารอ้างอิง
1. Kradjian WA, Koda-Kimble MA, Young LY, Gugliemo BJ. Assessment of therapy an pharmaceutical care. In Applied Therapeutics: the clinical use of drugs. Philadelphia : Lippincott Williams & Wilkins, 2005:1-8.
2. Jones RM, Rospond RM. Patients assessment and the pharmaceutical care process. In Patients assessment in pharmacy practice. Philadelphia : Lippincott Williams & Wilkins, 2003:1-6.
คทา บัณฑิตานุกูล ภ.บ.,
B.Sc. in Pharm, M. Pharm. (Community pharmacy)
Board Certified of Pharmacotherapy
ประธานมูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน
- อ่าน 6,926 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้