Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็นสัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
Beta blocker มีประสิทธิผลในผู้สูงอายุหรือไม่
Khan N, McAlister FA. Re-examining the efficacy of ß-blockers for the treatment of hypertension : a meta-analysis. CMAJ 2006;174:1737-42.
งานวิจัยนี้เป็นการสังเคราะห์ randomised controlled trial ดูผลการรักษาผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงด้วย beta-blocker เทียบกับยาหลอก ในผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือกลุ่มวัยกลางคนและสูงอายุ รวบรวมงานวิจัยที่ทำในคนวัยกลางคน (อายุ 46-56 ปี) 10 รายงาน ( n=50,612 คน) และงานวิจัยในผู้สูงอายุ (60-76 ปี, n=95,199 คน) 11 รายงาน.
ตัวชี้วัดผลการศึกษาคือ การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเสียชีวิต อย่างใดอย่างหนึ่ง และหัวใจวาย.
ผลการศึกษา พบว่าในกลุ่มวัยกลางคนนั้น ยา beta-blocker สามารถลดความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเสียชีวิตได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก. แต่ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ การรักษาด้วย beta-blocker กลับไม่มีผลลดความเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตโดยรวมด้วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดดังกล่าวได้ดีไปกว่ายาหลอก.
ผู้วิจัยสรุปว่า ในการรักษาความดันเลือดสูงนั้น ยา beta-blocker เป็นยาที่มีประสิทธิผลในคนอายุวัยกลางคนได้ผลดี แต่ไม่ได้ผลในผู้สูงอายุ.
ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคความดันเลือดสูง แนะนำให้ใช้ยา beta-blocker ในการรักษาโรคความ ดันเลือดสูงเป็นยาขนานแรกในคนอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่ไม่แนะนำให้ใช้กลุ่มยา beta-blocker เป็นยาขนานแรกในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุ. แต่ในทางปฏิบัติแพทย์ ในหลายประเทศก็ยังใช้ยา beta-blocker ในผู้ป่วยสูงอายุอยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะการไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำอาจยังไม่ทราบ หรือแพทย์หลายคนยังไม่เชื่อผลการวิจัยนี้.
กินเกลือโพแทสเซียมลดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ChangHY, Hu YW, Yue CS, et al. Effect of potas-sium-enriched salt on cardiovascular mortality and medical expenses of elderly men. AmJ Clin Nutr 2006; 83:1289-96.
การศึกษานี้ทำในประเทศไต้หวัน ศึกษาในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 1,981 คน เปรียบเทียบ ระหว่างการกินอาหารที่ปรุงด้วยเกลือโพแทสเซียม กับอาหารที่ปรุงด้วยเกลือโซเดียม โดยเลือกเฉพาะคนที่มี creatinine ต่ำกว่า 3.5 มก./ดล.
กลุ่มแรกมีผู้เข้าร่วม 768 คน กินอาหารที่ปรุงจากครัว 2 แห่ง ใช้เกลือโพแทสเซียมในการปรุงอาหาร ขนาดโพแทสเซียมที่ใช้ค่อยๆ เริ่มต้นจากอัตราส่วนเกลือโพแทสเซียม ต่อเกลือปกติ = 1 : 3 ในสัปดาห์แรก จากนั้นเพิ่มเป็น 1 : 1 ในสัปดาห์ที่สอง และเป็น 3 : 1 ในสัปดาห์ที่สาม เป็น 1 : 0 ในสัปดาห์ต่อๆไป.
ส่วนผู้ร่วมวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 1,213 คน กินอาหารจากครัวอีก 3 แห่ง อาหารในกลุ่มนี้ใช้เกลือโซเดียมตามปกติ.
ผู้วิจัยติดตามผลทั้ง 2 กลุ่มเป็นเวลาเฉลี่ยนาน 31 เดือน ตัวชี้วัดผลที่ติดตามได้แก่ การเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด (ได้แก่ ความดันเลือดสูง, หัวใจขาดเลือด, หลอดเลือดสมอง, หัวใจวาย หรือเบาหวาน).
ผลการศึกษา ระหว่างการศึกษามีผู้เข้าร่วมวิจัยเสียชีวิต 504 คน กลุ่มกินเกลือโพแทสเซียมมีอัตราตายจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่ากลุ่มกินเกลือโซเดียมอย่างมีนัยสำคัญ แต่อัตราการตายด้วยโรคอื่นๆของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน.
ข้อสรุป ผู้วิจัยสรุปว่าในผู้สูงอายุ การกินโพแทสเซียมระยะยาวสามารถลดการตายจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 3,712 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้