เด็กฟันไม่ขึ้น
Q อยากทราบว่าเด็กอายุ 10 เดือนแล้ว ยังไม่มีฟันขึ้นเลย จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ครับ
วรวิทย์ อึ้งภูริเสถียร
A โดยทั่วไป ฟันน้ำนมในเด็กจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือน และฟันบนจะขึ้นช้ากว่าฟันล่าง ราว 1-2 เดือน ฟันคู่แรกที่จะขึ้นได้แก่ ฟันตัดกลางคู่หน้าล่าง และต่อมาเป็นฟันตัดคู่หน้าบนและฟันตัดข้าง เมื่อมีฟันขึ้นแล้ว ให้ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดฟันให้เด็กอย่างน้อยวันละสองครั้ง โดยเช็ดทั้งด้านหน้าและด้านในของตัวฟัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนที่จะฝึกแปรงฟันต่อไป. สาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมขึ้นช้ากว่าปกติหรือไม่มีฟันขึ้น ได้แก่ โรคทางพันธุกรรมบางชนิด หรือการไม่มีหน่อฟัน ฟันที่ขึ้นช้ากว่าปกติไม่มาก จะไม่มีปัญหาอะไรนอกจากทำให้บดเคี้ยวอาหารได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าฟันขึ้นเร็วไป ต้องทำความสะอาดให้ดีมิฉะนั้นอาจมีฟันผุได้ จากคำถามที่ถามมา แนะนำให้รอจนถึงอายุ 1 ปี ถ้าฟันน้ำนมยังไม่ขึ้น แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์ค่ะ.
สุภานันท์ สุวรรณธรรมา ทพ.บ.
ทันตแพทย์
แว่นตากับปัญหาสายตาสั้น
Q คนสายตาผิดปกติควรเปลี่ยนแว่นบ่อยแค่ไหน และการเปลี่ยนแว่นไปเปลี่ยนตามร้านแว่น จะปลอดภัยหรือไม่
รัชดาภรณ์ ตันติมาลา
A โดยทั่วไปคนที่มีปัญหาสายตาผิดปกติที่ใช้แว่นตาหรือคอนแท็กเลนส์อยู่ ควรได้มีโอกาสตรวจตาและวัดระดับสายตาปีละ 1 ครั้ง หรืออย่างน้อย เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามองเห็นภาพไม่ค่อยชัด มีอาการปวดตา ปวดศีรษะ หรือมึนศีรษะเวลาใช้แว่นตานั้น แสดงว่าสายตาเราเปลี่ยนจากเบอร์แว่นตาแล้ว ควรไปรับการตรวจระดับสายตาใหม่ เพื่อเปลี่ยนแว่นตาให้ตรงกับสายตาจริง จะทำให้การมองเห็นภาพชัดขึ้น และไม่มีอาการปวดตา.
การเปลี่ยนแว่นสำหรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสายตา อาจไปตรวจวัดระดับสายตาตามร้านแว่นตาได้ เมื่อร้านแว่นได้ค่าสายตาจากการตรวจด้วยเครื่อง จะต้องมีการทดลองเบอร์แว่นทีละตาให้มองว่าเห็นชัดเจนหรือไม่ และต้องให้ทดลองมองพร้อมกันทั้ง 2 ตา อย่างน้อย 5 นาทีว่ามองเห็นภาพชัด ไม่งง เดินได้ไม่รู้สึกว่าพื้นหรือบันไดสูงๆต่ำๆ จึงสั่งตัดแว่น และควรให้ร้านจดเบอร์แว่นที่ทดลองไว้ให้ด้วย เมื่อไปรับแว่น ควรทดลองก่อนรับว่าใส่ได้เหมือนตอนแว่นทดลองหรือไม่ ถ้ามองไม่ชัดหรือใส่แล้วงง ให้แจ้งร้านแว่นทันที และอาจตรวจสอบแว่นกับเบอร์ทดลองที่จดไว้ที่ร้านแว่นหรือกับจักษุแพทย์ว่าเบอร์ตรงกันหรือไม่ จะทำให้ได้แว่นที่พอดีกับตาของเรามากที่สุด.
ยกเว้นในกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ห้ามไปวัดสายตากับร้านแว่น เพราะโดยธรรมชาติของเด็กจะมีการเพ่งสายตามากกว่าปกติอยู่เป็นประจำ. ดังนั้นในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จึงจำเป็นต้องหยอดยาลดการเพ่งก่อนวัดสายตา เพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งไม่สามารถหยอดได้ที่ร้านแว่นตา จึงควรวัดสายตาประกอบแว่นกับจักษุแพทย์เท่านั้น และที่สำคัญในเด็กอายุต่ำกว่า 10-12 ปี ยังเป็นช่วงเวลาที่ประสาทตามีการพัฒนาอยู่ ซึ่งเด็กจำเป็นต้องมองเห็นภาพชัดเจนที่สุด เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทตา. การใส่แว่นผิดเบอร์ในช่วงก่อนอายุ 10-12 ปีจะทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาประสาทตา และเกิดความพิการทางตาอย่างถาวรจากโรคตาขี้เกียจ (amblyopia หรือ lazy eye) ซึ่งเมื่อโตขึ้น แม้จะใส่แว่นตาก็จะไม่สามารถมองเห็นชัดเป็นปกติได้.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรคมะเร็งตับ
Q อยากทราบว่าโรคมะเร็งตับมีทางรักษาหายได้หรือไม่ และมีวิธีการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดได้หรือไม่
ปิยะดา พูลสวัสดิ์
A สำหรับโรคมะเร็งตับ หมายความถึง มะเร็งจากเซลล์ตับ ที่เรียกว่า hepatocellular carcinoma ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และภาวะตับแข็ง. สำหรับโรคนี้ ในปัจจุบัน โอกาสที่จะหายขาดได้มีอยู่ด้วยกัน 2 ทาง คือการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกไป หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ โดยทั่วไปศัลยแพทย์จะพิจารณาว่าก้อนมะเร็งนั้น สามารถตัดออกได้หรือไม่เป็นลำดับแรก ซึ่งก่อนผ่าตัดศัลยแพทย์จะประเมินสภาพการทำงานของตับ และความแข็งแรงของร่างกายคนไข้เสียก่อน รวมทั้งประเมินว่าหลังจากผ่าตัดแล้ว เนื้อตับส่วนที่เหลือจะทำงานได้พอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ ก็จะประเมินว่ามีข้อบ่งชี้ในการรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนตับหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ต้องใช้การรักษาวิธีอื่นๆ.
การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดมีหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่อาศัยหลักการของการทำลายเนื้อมะเร็ง โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (radiofrequency ablation) หรือการใช้ความเย็น (cryoablation) หรือสารเคมี (absolute alcohol injection) บางชนิด และอีกวิธีคือการใช้สารหรือยาเคมีบำบัดไปอุดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง (transarterial oily chemoembolization) โดยทั่วไปได้ผลไม่ดีนัก. บางรายใช้เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ เพื่อให้เล็กลงและสามารถผ่าตัดได้ภายหลัง วิธีเหล่านี้ถึงแม้ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาด แต่สามารถลดอาการของก้อนมะเร็งและช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ข้อเสียคือต้องทำหลายครั้งและต่อเนื่อง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับการผ่าตัด.
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ศัลยแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 4,127 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้