ไซนัสอักเสบ
Q เด็กที่มารักษาเรื่องหวัด จะวินิจฉัยว่าเป็นไซนัสอักเสบได้อย่างไร
วรวิทย์ อึ้งภูริเสถียร
A เด็กที่เป็นไซนัสอักเสบ จะมีอาการที่ไม่ชัดเจนเหมือนในผู้ใหญ่ที่จะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดบริเวณใบหน้า ในขณะที่เด็กที่มีอาการของไข้หวัด มีอาการ 2 กลุ่มที่ควรจะนึกถึงว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบ ได้แก่
กลุ่มอาการแรก ที่พบได้คือ มีน้ำมูกและไอตอนกลางวันมากกว่า 10 วัน โดยน้ำมูกอาจมีลักษณะใสหรือเหนียวข้น ไออาจมีเสมหะ หรือไม่ก็ได้ อาจมีอาการมากขึ้นตอนกลางคืน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ ลมหายใจมีกลิ่น บวมบริเวณรอบดวงตา อาจเป็นหนังตาบนหรือล่าง.
กลุ่มอาการที่ 2 ซึ่งพบได้น้อยกว่า คือ อาการหวัด น้ำมูก ที่มีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง น้ำมูกลักษณะเป็นหนอง อาจมีบริเวณรอบตาบวม และปวดตามใบหน้า ลักษณะอาการจะบวมมากในตอนเช้า ตอนกลางวันจะค่อยๆลดบวม และบวมอีกในเช้าวันรุ่งขึ้น เด็กบางคนอาจบอกถึงอาการปวดศีรษะ (ลักษณะปวดตื้อๆ บริเวณหน้าผากหรือหัวตา) ซึ่งพบได้ในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี.
พิบูล วชิรลาภไพฑูรย์ พ.บ.
โสต ศอ นาสิกแพทย์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
การทำเลสิก
Q อยากเรียนถามว่ากรณีอย่างไรจึงเหมาะสมในการรักษาสายตาผิดปกติด้วยการทำเลสิก
รัชดาภรณ์ ตันติมาลา
A เลสิกคือการผ่าตัดตา โดยการเปิดผิวกระจกตาดำด้านบนออกหนาประมาณ 1 ใน 3 ของกระจกตาทั้งหมดโดยยังเหลือเป็นขั้วไว้คล้ายบานพับ แล้วใช้แสงเลเซอร์ไปขัดเนื้อกระจกตาดำด้านล่างต่อผิวนี้บางส่วนเพื่อจะเปลี่ยนความโค้งของผิวกระจกตาดำ แล้วปิดกระจกตาดำที่เปิดออกกลับเข้าที่เดิม แล้วกลับบ้านได้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ใช้เวลาทำประมาณ 40 นาที ช่วงเวลาใช้แสงเลเซอร์แค่ประมาณ 7 วินาที ขณะทำเพียงใช้ยาชาหยอดตา โดยทั่วไปจะไม่รู้สึกเจ็บเลย และสามารถเปิดตาได้ ในวันรุ่งขึ้น.
คนสายตาสั้นจะมีความโค้งของกระจกตามากเกินไป ทำให้เมื่อแสงจากวัตถุผ่านเข้าตาแล้วจะมีการรวมแสงก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้มองไกลไม่ชัด การทำเลสิกก็จะไปเปลี่ยนความโค้งของผิวกระจกตาดำให้มีความโค้งลดลงในระดับที่พอดีที่จะมีผลทำให้กำลังสายตาลดลงจนแสงที่เข้าตาไปรวมเป็นจุดเดียว กันที่กลางจอประสาทตาพอดี ทำให้เห็นภาพได้ชัดโดยไม่ต้องใช้แว่นตาหรือคอนแท็กเลนส์อีกต่อไป. ในคนสายตาเอียงก็สามารถทำเลสิกเพื่อเปลี่ยนความโค้งของผิวกระจกตาดำ ทำให้แสงไปรวมเป็นจุดเดียวที่จอประสาทตาได้เช่นกัน.
คุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถรักษาสายตาผิดปกติด้วยวิธีเลสิกได้คือ
- เป็นผู้มีสายตาผิดปกติคือสั้น ยาว หรือเอียง.
- มีปัญหาในการใส่แว่นตา หรือคอนแท็กเลนส์ หรือแพ้น้ำยาคอนแท็กเลนส์.
- มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสายตาคงที่แล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี.
- ไม่มีโรคตาอื่นๆ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก ตาแห้งอย่างรุนแรง.
- ไม่มีโรคอื่นๆ ที่มีผลกับการหายของแผล เช่น เบาหวาน, โรสเอสแอลอี และโรคไขข้อรูมาตอยด์ เป็นต้น.
- ไม่ตั้งครรภ์ และไม่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร.
- ได้ข้อมูลการรักษาอย่างถูกต้องและครบถ้วน.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Erb palsy
Q อยากทราบว่ามีวิธีป้องกันการเกิดภาวะ brachial plexus nerve injury (Erb palsy) ในเด็กทารกแรกเกิดอย่างไรบ้าง
ปิยะดา พูลสวัสดิ์
A การได้รับบาดเจ็บที่บริเวณ brachial plexus nerve ระหว่างการคลอดพบได้ประมาณ 1 ต่อ 500 ถึง 1 ต่อ 1,000 การคลอด และจะพบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มทารกน้ำหนักมาก และการคลอดท่าก้น.
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทารกตัวโตที่มีภาวะติดไหล่กับการบาดเจ็บดังกล่าวยังไม่แน่ชัด เพราะมีเพียง 30% ของ brachial plexus nerve injury เท่านั้นที่มีภาวะ macrosomia ร่วมด้วย.
กลุ่มที่พบบ่อยคือ upper roots injury หรือ Erb palsy หรือ Duchenne paralysis ซึ่งจะมีการอ่อนแรงที่กล้ามเนื้อ deltoid, infraspinatus และ flexor muscle of forearm ทำให้แขนตกข้างลำตัวและเหยียดข้อศอกร่วมกับ internal rotation ของแขน อย่างไรก็ตามนิ้วมือยังสามารถทำงานได้ตามปกติ. สาเหตุของการบาดเจ็บนี้เกิดจากการยืดตึงและฉีกขาดของ upper roots brachial plexus nerve ระหว่างการทำ lateral head traction เพื่อช่วยคลอดไหล่ในการทำคลอดท่าหัว. สำหรับท่าก้นนั้นการบาดเจ็บมักเกิดที่ระดับ C5-6 ของ nerve roots อย่างไรก็ตามถ้าการคลอดหัวติดมากๆ อาจบาดเจ็บตั้งแต่ C5-7 หรือ C5- T1 ก็ได้ ส่วนในกลุ่ม lower roots injury หรือ Klumpke paralysis ซึ่งจะมีการอ่อนแรงที่มือ จะพบได้น้อยกว่า.
การป้องกันและลดการเกิด brachial plexus nerve injury นั้น ยังไม่มีวิธีใดที่มีประสิทธิภาพชัดเจน อย่างไรก็ตามการช่วยคลอดไหล่โดยการดึงอย่าง นิ่มนวลร่วมกับให้มารดาช่วยเบ่งด้วยอาจลดการเกิดการบาดเจ็บดังกล่าวได้.
ฤชา ตั้งจิตธรรม พ.บ.
สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี
- อ่าน 4,494 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้