ถาม อ้างถึงข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวญกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 มีปัญหากฎหมายขอเรียนถามกองบรรณาธิการวารสารคลินิกเกี่ยวกับข้อบังคับฯ ซึ่งขัดแย้งกับ ป.อ.มาตรา 305 โดยมีการเพิ่มข้อความเกี่ยวกับสุขภาพจิต จึงเรียนถามว่าข้อบังคับแพทยสภาสามารถใช้บังคับแทน ม. 305 ป.อ. ได้หรือไม่. อีกประการหนึ่ง ข้อบังคับแพทยสภาซึ่งออกโดยกรรมการแพทยสภา ในเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ เป็นกฎหมายแทนกฎหมายอาญาได้หรือไม่.
อัมพร แจ่มสุวรรณ
ตอบ ตามคำถามที่ว่า ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 118 ง วันที่ 15 ธันวาคม 2548 และข้อบังคับนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2548 เป็นต้นมานั้น ผู้ถามสงสัยว่าจะเป็นการขัดแย้งกับ ป.อ. มาตรา 305 ที่ข้อบังคับมีข้อความเกี่ยวกับสุขภาพจิตด้วย.
ขอตอบว่าใน ป.อ. มาตรา 305 บัญญัติถึงข้อยกเว้นความผิดตาม ป.อาญามาตรา 301 และมาตรา 302 ว่าถ้าเป็นการกระทำของนายแพทย์และจำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการกระทำผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด.
เมื่อกฎหมายกำหนดให้แพทย์ใช้เอกสิทธิ์ กระทำตามมาตรานี้ได้โดยไม่มีความผิด แพทยสภาในฐานะองค์การควบคุมการประกอบวิชาชีพของแพทย์ หรือที่เรียกตามกฎหมายว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ก็มีอำนาจที่จะออกข้อบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปฏิบัติตามมาตรานี้ได้ โดยการใช้หลักวิชาการกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติให้แพทย์ปฏิบัติตามได้ และเนื้อหาของเกณฑ์ปฏิบัติจะเห็นว่ากำหนดไว้ทั้งการปฏิบัติตามมาตรา 305 (1) กรณีจำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพกับการปฏิบัติตามมาตรา 305 (2) กรณีหญิงตั้งครรภ์อันเนื่องจากการกระทำผิดอาญา.
สำหรับกรณีเนื่องจากปัญหาสุขภาพนั้น ในตัวบทกฎหมายมิได้ระบุว่าเป็นสุขภาพกายเท่านั้น และตามหลักวิชาในปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับกันว่าสุขภาพต้องประกอบกันทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ในประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดต่อร่างกาย ก็บัญญัติให้รวมทั้งอันตรายแค่กายหรือจิตใจทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้นคำว่าสุขภาพตามมาตรา 305 (1) นั้น ต้องรวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเข้าไปด้วย. นักกฎหมายบางท่านอาจจะอธิบายมาตรา 305 (1) ว่าหมายถึงสุขภาพกายเท่านั้นก็เป็นความเห็นเฉพาะตัว ไม่น่าจะถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวบทกำกฎหมาย เพราะฉะนั้นข้อบังคับแพทยสภา จึงไม่ขัดกับกฎหมายอาญา แต่จะเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรานี้ด้วย.
วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
มหาวิทยาลัยมหิดล
การให้วัคซีนพิษสุนัขบ้าในเด็กทารก
ถาม การให้วัคซีนพิษสุนัขบ้าในเด็กทารกให้ได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือไม่ ขนาดยาที่ใช้ฉีดเท่ากับผู้ใหญ่ หรือไม่ และจะมีอันตรายต่อเด็กหรือไม่ จะฉีดในคลินิกได้หรือไม่ หรือต้องให้ไปฉีดที่โรงพยาบาล.
ชัยพร ลีละศิธร
ตอบ ในการศึกษาวัคซีนพิษสุนัขบ้าในผู้ที่ถูกสัตว์กัด และเป็นเด็กอายุ 0-14 ปี รายงานจากสถานเสาวภา 2,622 ราย อายุเฉลี่ย 6-7 ปี โดยมีอายุต่ำสุด 2 เดือน ฉีด 0.1 มล. เข้าในหนัง (intradermal) แบบ 2-2-2-0-1-1 วันที่ 0-3-7-14-30-90 หรือ 2-2-2-0-2 วันที่ 0-3-7-14-30 ก็สามารถใช้ได้ครับ.
แม้ไม่มีข้อมูลของเด็กแรกเกิด ความเห็นของผมก็คิดว่าถ้าจำเป็นก็ให้ได้ ขนาดยาก็ดังข้างต้น แต่ถ้าจะฉีด 0.5 มล. เข้ากล้ามก็น่าจะได้ เพราะเด็กแรกเกิดที่ฉีดวัคซีนตับอักเสบบี ก็ใช้ 0.5 มล. ฉีดที่กล้ามเนื้อต้นขา (วัคซีน PVCV ผสมจะได้ 0.5 มล. แต่ HDCV PCECV และ PDEV ผสมแล้วจะได้ 1.0 มล. ปริมาตรอาจมากไปถ้าฉีดเข้ากล้าม).
อาการข้างเคียง ในรายงานของสถานเสาวภา ในการศึกษาติดตาม 1,516 ราย พบว่ามีเพียงร้อยละ 15 เป็นไข้ ปวดบวมบริเวณที่ฉีด หรือต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บ ให้ยาลดไข้ หรือ antihistamine ก็เพียงพอ.
เอกสารอ้างอิง
1. Pancharoen C, Thisyakorn U, Lawtongkum W, Wilde H. Rabies exposures in thai children. Wilderness Environ Med 2001 Winter;12(4): 239-43.
นิรันดร์ วรรณประภา พ.บ.
รองศาสตราจารย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บรรณาธิการ
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ.
ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 5,460 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้