Q มีอาการเหงือกบวมเป็นหนองบริเวณฟันกรามบนซ้าย มีฟันโยก เคยเป็นๆ หายๆ กินยาแก้อักเสบแล้วอาการก็ดีขึ้น แต่ไม่เคยไปหาหมอ อาการนี้เคยเป็นที่บริเวณอื่นด้วย เช่น ฟันกรามล่างข้างขวา กินยาแก้อักเสบแล้วอาการก็หายไป อยากทราบว่าจะทำการรักษาได้อย่างไร ต้องทำการตรวจฟันหรือไม่ ถ้าไม่ถอนจะได้ไหม
วรวิทย์ อึ้งภูริเสถียร
A ก่อนอื่นต้องตรวจที่บริเวณฟันที่มีอาการก่อนว่ามีฟันผุหรือไม่ ถ้าเป็นฟันที่ปกติไม่มีรูผุ สาเหตุที่พบบ่อยน่าจะเกิดจากหินน้ำลาย ที่ทำให้เกิดสภาวะโรคปริทันต์อักเสบอย่างรุนแรง มีการทำลายกระดูกรอบรากฟันและอวัยวะปริทันต์ ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นหนองของช่องลึกปริทันต์ บางครั้งมีอาการบวมออกมาทางด้านชิดแก้มและชิดเพดานของตัวฟัน บางครั้งจะพบลักษณะของโรคปริทันต์อักเสบที่ค่อนข้างรุนแรงได้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีพอ.
การรักษาโดยทั่วไปคือการขูดหินน้ำลายร่วมกับทันตกรรมรากฟันหรือศัลยปริทันต์ร่วมด้วย แต่ถ้าฟันโยกมากและมีการสูญเสียกระดูกรองรับรากฟันมากๆ อาจต้องพิจารณาถอนฟันซี่นั้นๆ.
ถ้าเป็นกรณีและอาการที่กล่าวมาข้างต้นและตรวจพบว่า ตัวฟันมีรูผุขนาดใหญ่และทะลุประสาทฟัน น่าจะเกิดจากมีการติดเชื้อเข้าสู่คลองรากฟัน และทำให้เกิดการอักเสบที่ปลายรากฟัน อาจก่อให้เกิดอาการบวมและเป็นหนองได้เช่นกัน. สำหรับการรักษา สามารถทำการรักษาคลองรากฟันและบูรณะตัวฟันขึ้นมาให้สมบูรณ์โดยการอุดฟัน หรือทำครอบฟันหลังจากรักษารากฟันแล้ว แต่ถ้าฟันซี่นั้นเสียหายมาก ไม่สามารถบูรณะขึ้นมาได้ ทันตแพทย์ก็จะพิจารณาถอนฟันซี่นั้น.
สุภานันท์ สุวรรณธรรมา ทพ.บ.
ทันตแพทย์
โรคต้อหิน
Q อยากทราบว่าโรคต้อหินเป็นอย่างไร ต้อหินกับต้อกระจก โรคไหนร้ายแรงกว่ากัน
รัชดาภรณ์ ตันติมาลา
A ต้อหินคือภาวะที่ตามีความดันลูกตาสูงเกินไป บางครั้งสูงมากจนตาแข็งเหมือนหิน จึงเป็นที่มาของชื่อต้อหิน โรคต้อหินพบไม่บ่อยเท่าต้อกระจก แต่น่าจะร้ายแรงกว่าเนื่องจากถ้าไม่รักษาหรือรักษาช้า จะทำให้ตาบอดหรือมัวมาก และรักษาให้กลับมาเห็นดี ขึ้นไม่ได้ด้วย ขณะที่ต้อกระจกในผู้ใหญ่แม้เป็นมากแล้ว แต่พอผ่าตัดเมื่อใดตาก็มักจะกลับมามองเห็นได้ดี.
ต้อหินคือโรคของตาชนิดหนึ่ง ที่มีการเสื่อมของประสาทตา ทำให้มีลานสายตาแคบลง มีตามัวจนถึงตาบอดได้ เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดต้อหิน ปัจจัยหนึ่งคือความดันตาที่สูงเกินไป ทำให้เกิดการกดที่เซลล์ประสาทตา เป็นผลให้มีประสาทตาเสื่อมตามมา ปกติตาคนเราจะมีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงขึ้นภายในลูกตาตลอดเวลา และน้ำหล่อเลี้ยงตานี้ก็จะระบายออกจากตาตลอดเวลาเช่นกันในปริมาณเท่ากับที่สร้างขึ้น เมื่อใดก็ตามที่สมดุลนี้เสียไปคือมีการระบายออกน้อยกว่าสร้าง จะทำให้มีการคั่งของน้ำในลูกตา จึงมีความลูกตาสูงมากเกินไปตามมา เกิดภาวะต้อหินขึ้นได้.
การมองเห็นของคนปกติ การมองเห็นของคนปกติ
ต้อหินเป็นได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่พบในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป. ต้อหินแบ่งง่ายๆได้เป็น 2 ชนิด คือชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ดังนี้
1. ต้อหินชนิดเฉียบพลัน จะมีความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเวลาเป็นวัน ทำให้มีอาการปวดตามาก ตาแดง ตามัวลง อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วจะทำให้สายตามัวลงอย่างรวดเร็วจนถึงตาบอดได้.
2. ต้อหินชนิดเรื้อรัง ความดันลูกตาจะสูงขึ้นช้าๆ ในเวลาเป็นเดือนเป็นปี ดังนั้นตาจะมีเวลาปรับตัวได้ จึงอาจไม่มีอาการปวดตา ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวว่าเป็นต้อหินอยู่ จึงยังไม่ได้รับการรักษา ประสาทตาจะเสื่อมลงเรื่อยๆ ลานสายตาจะแคบลงมากขึ้นๆ จนผู้ป่วยสังเกตว่าตามัวลง จึงมาพบแพทย์เมื่อโรคเป็นมากแล้ว ซึ่งการรักษาก็เพียงแต่ช่วยป้องกันไม่ให้ประสาทตาเสียไปมากกว่านี้ แต่ไม่สามารถช่วยให้ประสาทตาส่วนที่เสียไปแล้วคืนกลับมาได้ ความสำคัญของต้อหินชนิดนี้จึงอยู่ที่การค้นพบโรคตั้งแต่ระยะแรก. ดังนั้น ในผู้ที่มีอายุมากว่า 40 ปีทุกคนซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ หรือผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน ควรไปรับการตรวจสุขภาพตาและวัดความดันตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง.
สาเหตุของต้อหิน
- ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง.
- หยอดยาประเภทสตีรอยด์เป็นประจำ.
- มีการอักเสบเรื้อรังของลูกตา.
- สาเหตุอื่นๆเช่นอุบัติเหตุที่ตา, ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งตับ
Q เห็นมีโฆษณา การตรวจหามะเร็งลำไส้ ใหญ่และมะเร็งตับด้วยการเจาะเลือดตรวจ ไม่ทราบว่าตรวจได้ที่ไหนบ้างคะ
ปิยะดา พูลสวัสดิ์
A การตรวจเลือดเพื่อหามะเร็ง ปัจจุบันมีทำกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องแยกประเภทหรือชนิดของมะเร็งที่จะตรวจหาด้วย ถ้าเป็นการตรวจโดยที่ผู้รับการตรวจไม่มีอาการ จะจัดอยู่ในกลุ่มที่เราเรียกว่า การตรวจคัดกรอง (screening) ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในบางรายเท่านั้น. สำหรับมะเร็งตับ แนะนำให้ตรวจคัดกรองโดยหาค่าของ alpha fetoprotein ร่วมกับการทำ ultrasonography ของตับทุก 6 เดือน ในกลุ่มเสี่ยง เช่น รายที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี หรือซี หรือมีภาวะตับแข็ง แต่ไม่แนะนำให้ทำการตรวจหาในกลุ่มประชากรทั่วไป.
สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองโรคด้วยการเจาะเลือดหาค่า carcinoembryonic antigen (CEA) ในกลุ่มประชากรทั่วไป การตรวจค่านี้จะได้ประโยชน์ในการติดตามผลการรักษาหลังจากผ่าตัดแล้วเท่านั้น นอกจากนี้การเจาะตรวจยังอาจพบผลบวกลวงได้ ในหลายภาวะ เช่น ตับแข็ง คนที่สูบบุหรี่ เป็นต้น.
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ศัลยแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 15,030 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้