การรักษารากฟัน
Q โครงสร้างของฟันคนเราประกอบด้วยอะไรบ้าง
A ฟันคนเราประกอบด้วย 3 ชั้น เรียงตามลำดับ ดังนี้
1. ชั้นเคลือบฟัน เป็นชั้นที่มีความแข็งแรงที่สุดและนอกสุด การเกิดฟันผุในระดับนี้ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ และอาจสังเกตเห็นเองได้ โดยพบมีจุดหรือร่องสีดำบนผิวฟัน หรือสามารถตรวจพบโดยทันตแพทย์.
2. ชั้นเนื้อฟัน เป็นส่วนที่มีความแข็งรองลงมาจากชั้นเคลือบฟัน ซึ่งถ้ามีฟันผุถึงในระดับนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเสียวเวลาดื่มน้ำเย็นหรือกินอาหาร หรือในบางคนอาจไม่มีอาการใดๆ แต่มักจะมีเศษอาหารเข้าไปติดบริเวณดังกล่าวบ่อยๆ. ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นได้โดยมีรูหรือร่องอยู่บนฟัน ผู้ป่วยที่มีฟันผุในระยะนี้จะไม่มีอาการปวดฟันในเวลากลางคืน หรือปวดขึ้นมาเองโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น (spontaneous pain) แต่มักจะเป็นการปวดเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น กินอาหารแล้วมีเศษอาหารติดจึงปวด และมักจะปวดไม่นานอาจแค่ชั่วขณะหลังกินอาหาร.
3. ชั้นโพรงประสาทฟัน เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ภายใน ถูกห่อหุ้มด้วยชั้นเคลือบฟันและชั้นเนื้อฟัน ซึ่งถ้าฟันผุถึงในระดับนี้ จะมีการติดเชื้อในโพรงประสาทฟันทำให้มีอาการปวด มักมีอาการปวดมากหรือปวดตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้น เสียวฟันเมื่อดื่มน้ำร้อน-เย็น ซึ่งการรักษาเมื่อมีฟันผุถึงในระดับนี้มีเพียง 2 ทางคือ การรักษารากฟัน และถอนฟัน.
Q การรักษารากฟัน คืออะไร
A คือ การกำจัดเนื้อเยื่อประสาทฟันที่ติดเชื้อ และทำความสะอาดภายในคลองรากฟันด้วยเครื่องมือขยายคลองรากฟัน ร่วมกับน้ำยาล้างคลองรากฟัน รวมทั้งการใส่ยาฆ่าเชื้อภายในฟัน.
Q ความแตกต่างของการรักษารากฟัน และการถอนฟัน
A การรักษารากฟัน และการถอนฟัน ล้วนเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยหายปวดจากการมีโพรงประสาทฟันอักเสบติดเชื้อได้ทั้งสิ้น แต่การรักษารากฟันทำให้ผู้ป่วยสามารถเก็บฟันซี่นั้นๆ ไว้ได้. ส่วนการถอนฟัน จะทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ การต้องทำฟันปลอมเพื่อทดแทนฟันที่ถูกถอนออกไป เป็นต้น. แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับสภาวะทางเศรษฐกิจของผู้ป่วยด้วย เนื่องจากการรักษารากฟันนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า การถอนฟันปกติ.
Q ทำไมหลังจากการรักษารากฟันแล้ว ฟันมักจะแตกง่าย และไม่สามารถเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งและเหนียวได้เหมือนฟันปกติ
A ฟันที่รักษารากฟันแล้ว จะมีความแข็งแรงลดลงจากฟันปกติที่ไม่เคยได้รับการรักษารากฟันประมาณครึ่งหนึ่ง ดังนั้นในผู้ป่วยทุกคนที่ได้รับการรักษารากฟัน ควรจะได้รับการครอบฟันภายหลังจากการรักษารากฟัน เพื่อป้องกันการเกิดฟันแตกในภายหลัง ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันต้องถูกถอน ไปในที่สุด.
Q ข้อควรทราบและระวังในระหว่างการรักษารากฟัน มีอะไรบ้าง
A ในครั้งแรกของการรักษารากฟัน ทันตแพทย์จะทำการดึงประสาทฟันที่อักเสบออก ดังนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการปวดภายหลังการรักษา 2-3 วันแรก แต่ถ้ามีอาการบวมให้รีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันที. ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยไม่ควรจะเคี้ยวอาหารโดยใช้ฟันข้างที่รักษารากฟัน หรือถ้าเคี้ยวไม่ได้และมีความจำเป็น ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารแข็งและเหนียว. นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามที่ทันตแพทย์แนะนำ เนื่องจากการรักษาที่ไม่ต่อเนื่องอาจทำให้เชื้อโรคลุกลาม จนกลายเป็นหนองที่ปลายรากฟันได้.
Q ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันแล้ว จะมีอาการปวดได้หรือไม่
A อาการปวดแบ่งเป็น 2 กรณี คือ อาการปวดระหว่างการรักษา และภายหลังการรักษา
1. ถ้ามีอาการปวดระหว่างการรักษารากฟัน 2-3 วันแรก หรืออาจถึงสัปดาห์ อาจเป็นอาการปกติ เนื่องจากกระบวนการอักเสบชั่วคราวเนื่องจากการทำงานรักษารากฟัน.
2. ภายหลังกระบวนการรักษารากฟันเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาปวดอีกแทบไม่มี หรือมีน้อยมาก เพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น. ถ้าการรักษารากฟันนั้นเป็นการรักษาที่สมบูรณ์ ซึ่งร้อยละ 1.5 นี้อาจเกิดจากการที่ฟันมีเชื้อโรคอยู่นอกรากฟัน ซึ่งไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการรักษารากฟันปกติ แต่ต้องทำการรักษาด้วยศัลยกรรมปลายราก เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ดื้อยาบริเวณนั้นให้หมดไป เพื่อให้เกิดการหายของเนื้อเยื่อปลายรากฟันที่สมบูรณ์.
บรรณาธิการ
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ. ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล รามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้นิพนธ์
มณีรัตน์ ยิ่งธโนทัย ท.บ.
แผนกทันตกรรม
- อ่าน 28,282 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้