ถาม ขอเรียนถามวิธีการรักษาผู้ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่.
สมาชิก
ตอบ จุดมุ่งหมายที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วย COPD ได้แก่ ทำให้อาการเหนื่อยดีขึ้น คงสภาพการทำงานของปอดหรือทำให้เสื่อมลงช้าที่สุด ออกกำลังได้ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อน ป้องกันและรักษาภาวะกำเริบเฉียบพลัน และลดอัตราการเสียชีวิต.
การรักษาที่ดีที่สุด ได้ผลดีที่สุด ประหยัดที่สุดและสามารถลดอัตราการเสียชีวิต คือ การหยุดสูบบุหรี่. ส่วนการรักษาอื่นๆที่มีอยู่นั้นส่วนใหญ่จะช่วยทำให้อาการเหนื่อยดีขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดอาการหอบเหนื่อยฉับพลัน (acute exacerbation) และคงสภาพการทำงานของปอดหรือทำให้เสื่อมลงช้าที่สุด. สำหรับเกณฑ์การวินิจฉัยในปัจจุบันอาศัยค่า FEV1/FVC น้อยกว่าร้อยละ 70 ซึ่ง GOLD (Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease) guideline ปี 2006 ได้แบ่งการรักษาตามระดับความรุนแรงของโรคโดยแบ่งระยะของโรคเป็น 4 ระดับตามเกณฑ์ที่ได้จาก spirometry ดังต่อไปนี้
ระดับ I : Mild (อ่อน) : ค่า FEV1≥ 80% ของค่าอ้างอิง.
ระดับ II : Moderate (ปานกลาง) : 50% ≤ FEV1 < 80% ของค่าอ้างอิง.
ระดับ III : Severe (รุนแรง) : 30% ≤ FEV1 < 50% ของค่าอ้างอิง.
ระดับ IV : Very severe (รุนแรงมาก) : FEV1 < 30% ของค่าอ้างอิงหรือ FEV1 < 50% ของค่าอ้างอิงร่วมกับมีภาวะการหายใจล้มเหลวเรื้อรัง (PaO2 < 60 มม.ปรอท โดยที่อาจมี PaCO2 > 50 มม.ปรอท ร่วมด้วย).
การรักษาจะแบ่งเป็นการรักษาในช่วงระยะสงบ (stable COPD) และระยะที่มีการกำเริบของโรค (acute exacerbation of COPD) โดยที่การรักษา ผู้ป่วยที่เป็นโรค COPD ในระยะสงบนั้นโดยทั่วไปสามารถแบ่งเป็น 2 วิธีหลักๆ
(ดูภาพประกอบ) ดังนี้
1. การรักษาโดยการใช้ยา
ก. ยาขยายหลอดลม (broncho-dilator) : ß2-agonist, anticholinergic, xanthine derivative.
ข. Corticosteroids.
ค. อื่นๆ : วัคซีน (influenza and pneumococcal vaccine), antioxidant (N-acetylcysteine).
2. การรักษาอื่นที่ไม่ใช่ยา
ก. การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (pulmonary rehabilitation).
ข. การให้การรักษาด้วยออกซิเจนระยะยาว.
ค. การผ่าตัดรักษา.
ส่วนรายละเอียดนั้นสามารถค้นหาได้ในเว็บไซต์ที่อยู่ในเอกสารอ้างอิง และถ้าเป็น guideline ของประเทศไทย สามารถเข้าไป download ได้ที่ thaichest.org
เอกสารอ้างอิง
1. Global Initiative for Obstructive Lung Disease. Global strategy for the diagnosis, management, and prevention of chronic obstructive e lung disease (executive summary). http://www.goldcopd.com/Guidelineitem<. asp?l1=2&l2=1&intId=996. December,2006.
วิรัช ตั้งสุจริตวิจิตร พ.บ.
หน่วยโรคระบบหายใจและเวชบำบัตวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
การรักษาอาการผิวหนังลอกเป็นขุย
ถาม ขอเรียนถามเกี่ยวกับอาการผิวหนังลอกเป็นขุยๆ ที่ฝ่ามือ อาการเริ่มแรกคัน ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใสผุดขึ้นมา จากนั้นแตกออกลอกเป็นขุยๆ เป็นอาการของโรคอะไร ควรให้การรักษาอย่างไร.
สมาชิก
ตอบ น่าจะเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้สารที่สัมผัส โดยควรมีประวัติเปลี่ยนสารที่สัมผัสมือในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนก่อนมีผื่น ถ้าไม่มีประวัติเช่นนี้เลย อาจเป็น endogenous eczema คือ dyshidrosis.
การรักษา คือ ทา topical corticosteroids ที่มีความแรงปานกลางถึงสูง ร่วมกับ emollient เช่น 10% urea cream และถ้าเป็น allergic contact dermatitis ต้องหลีกเลี่ยงสารที่สัมผัสด้วย.
กนกวลัย กุลทนันทน์ พ.บ.
รองศาสตราจารย์ ภาควิชาตจวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
บรรณาธิการ
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ.
ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 7,088 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้