• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ป้องกันภูมิแพ้

 

ถาม : นภาพร/กรุงเทพฯ
อายุ 30  ปีแล้วค่ะ เป็นภูมิแพ้จากกรรมพันธุ์ ขณะนี้มีลูกสาวอายุ 2 ขวบ ต้องการทราบวิธีการปฏิบัติตัว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาภูมิแพ้ในอนาคต ทั้งของตัวเองและของลูกสาว

1. ตัวเองจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่ให้ภูมิแพ้กำเริบ (อยู่กับภูมิแพ้โดยที่ภูมิแพ้ไม่มารบกวนให้เสียงาน)

2. ลูกสาวจะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ด้วยหรือไม่ อย่างไร 

 

ตอบ : นพ.ปารยะ อาศนะเสน
สิ่งที่จะแนะนำสำหรับการปฏิบัติตัวของคุณแม่เรื่องภูมิแพ้ มีดังนี้

1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่สามารถกระตุ้น ให้ผู้ป่วยเกิดอาการขึ้นมาได้ ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้   ได้แก่

♦ ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อารมณ์เศร้า วิตก กังวล เสียใจ

♦ ของฉุน ฝุ่น ควัน อากาศที่เปลี่ยนแปลง (จึงจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยง โดยสังเกตว่า  อยู่ในสิ่งแวดล้อมใด สัมผัสอะไร หรือกินอะไรแล้วอาการมากขึ้น ให้หลีกเลี่ยง) จัดบ้านและจัดห้องนอนตามคำแนะนำของแพทย์

♦ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือหวัด ควรป้องกันไม่ให้เป็นโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เช่น เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การสัมผัสอากาศที่เย็นมากเกินไป เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากร้อนเป็นเย็น จากเย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้

2. ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก อย่างสม่ำเสมอ (การออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือการออก-กำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยานฝืด (แบบปรับน้ำหนักได้) เตะฟุตบอล เล่นเทนนิส แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล) เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ความไวของเยื่อบุจมูกและ/หรือหลอดลมลดลง ทำให้ความจำเป็นในการใช้ยาลดน้อยลง และทำให้มีภูมิต้านทานต่อหวัด  ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อาการภูมิแพ้แย่ลง โดยจะเป็นหวัดยาก หรือเป็นแล้วหายง่าย

คำถามที่ว่าลูกสาวมีโอกาสเป็นภูมิแพ้หรือไม่นั้น ขอตอบว่ามีแน่นอน สามารถป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงได้ ด้วยการให้ความสำคัญกับการป้องกัน ดังนี้

จากผลสำรวจการเกิดโรคภูมิแพ้ของประเทศไทยพบว่าเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ไทยมีการเกิดของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (ร้อยละ 23-30 โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืด (ร้อยละ 10-15) โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (ร้อยละ 15) และโรคแพ้อาหาร (ร้อยละ 5) โดยเกิดในเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่

โรคภูมิแพ้นั้นถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพ ชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น ไม่สามารถนอนหลับ ได้ตามปกติ เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบ นอนกรน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผิวหนังติดเชื้อ

สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดจากกรรมพันธุ์  และสิ่งแวดล้อม พบว่าถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่สามารถแก้ไขปัจจัยทางกรรมพันธุ์ได้ การควบคุมสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนการกินอาหารที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาส การเกิดโรคภูมิแพ้ในบุตรได้

เนื่องจากโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีการศึกษาที่แสดงว่า  สิ่งแวดล้อมและอาหารเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้นการกำจัด และหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ตั้งแต่ แรกในเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูง) และการให้เด็กดื่มนมมารดาจะสามารถ ป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีโรคภูมิแพ้ร่วมกันหลายชนิด เช่น เด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังอาจพบมีการแพ้อาหารร่วมด้วย ดังนั้นการเลือกกินอาหารที่เหมาะสมจะสามารถลดอัตราการเกิดของการแพ้อาหารได้ การดื่มนมแม่หรือนมสูตรพิเศษ (extensively hydrolyzed formula หรือ partially     hydrolyzed formula) ซึ่งเป็นนมที่มีการสลายโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้     จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้  นอกจากนี้การดื่มนมที่ผสมจุลินทรีย์สุขภาพ (probiotic bacteria) เช่น แล็กโทบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกาย มีการสร้างภูมิคุ้มกันและลดอัตราการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้

เด็กที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้  ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมและกินอาหารที่มีโปรตีนซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

♦ ดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่ต้องจำกัดอาหารเป็นพิเศษสำหรับมารดาช่วงระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร

♦ กรณีที่ไม่สามารถให้นมมารดาได้ ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมสูตรพิเศษจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ขวบ

♦ ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมวัว และหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ขวบ

♦ ไม่แนะนำให้ดื่มนมถั่วเหลือง นมแพะ นมแกะ ทั้งนี้เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ได้เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว

♦ ให้อาหารเสริมเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน โดยแนะนำให้เด็กกินอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่ อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด กล้วยน้ำว้า ฟักทอง น้ำต้มหมู น้ำต้มไก่ ผักใบเขียว

♦ หลีกเลี่ยงการกินไข่และอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ จนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ขวบ

♦ หลีกเลี่ยงการกินถั่วและปลาจนกระทั่งเด็กมีอายุ 3 ขวบ


นอกจากการกินอาหารที่เหมาะสมแล้ว จะต้องหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง เชื้อรา แมลงสาบ ตั้งแต่ขวบปีแรก ดังนี้

♦ ใช้เครื่องเรือนน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน

♦ งดใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้เก้าอี้นอนหรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่น หรือขนสัตว์ ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ คลุมที่นอนและหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น

♦ ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน

♦ ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

♦ ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ

♦ ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน

♦ พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน

♦ จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ  

การปฏิบัติตัวดังกล่าว และระวังไม่ให้เด็กได้รับควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ควันไฟ ฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่อายุน้อยๆ สามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้