ถาม : เราจะแยกตาแดงที่เกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis) กระจกตาถลอก และแผลที่กระจกตาได้อย่างไร.|
แพทย์โรงพยาบาลชุมชน
ตอบ : เป็นคำถามที่น่าสนใจและเป็นปัญหาที่พบบ่อยๆ ในแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปแต่สำหรับจักษุแพทย์ที่มีเครื่องมือตรวจตา (slit lamp) และประสบการณ์แล้วคงไม่มีปัญหา. โดยทั่วไปเวลาผู้ป่วยมาด้วยอาการตาแดงที่เกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ มักให้ประวัติว่ารู้สึกไม่สบายตาเหมือนมีฝุ่นเข้าตา มีขี้ตามาก โดยเฉพาะตอนเช้ามักมีขี้ตาเกรอะกรัง ลืมตาไม่ขึ้น ที่สำคัญคือจะต้องไม่มีอาการตามัว (อาจมัวลงได้เล็กน้อยจาก การที่มีขี้ตาเยอะมากๆ แต่พอกะพริบตาหรือล้างตาแล้วตาจะต้องหายมัว) ไม่มีอาการกลัวแสง (photophobia). ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยมักจะร่วมมือลืมตาให้ตรวจด้วยไฟฉายได้เป็นอย่างดี.
โรคเยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลัน (acute conjunctivitis) ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากจากเชื้อไวรัส ซึ่งมักหายเองได้. การรักษาอาจให้ยาหยอดตาจำพวกน้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของ antihistamine ช่วยก็ได้ โดยที่สำคัญต้องไม่ลืมเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ.
แต่ในกรณีตาแดงที่เกิดจากพยาธิสภาพที่กระจกตาดำ (cornea) ผู้ป่วยมักให้ประวัติชัดเจนว่ามีฝุ่นเข้าตา กระดาษบาดตา หรือใส่เลนส์สัมผัสติดต่อกันหลายชั่วโมงผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามากๆ ไม่ยอมร่วมมือลืมตาให้ตรวจง่ายๆ อาจต้องใช้ยาชาสำหรับหยอดตาช่วย ตามัวลง. ตรวจตาพบลักษณะ ciliary injection คือเป็น หลอดเลือดฝอยตรงๆ สั้นๆ วิ่งออกไปจากรอบๆ ขอบตาดำ (limbus) ถ้าใช้ไฟฉายส่องดูเห็น corneal ยังดูใสๆดี แต่ดวงไฟฉายที่สะท้อนขึ้นมา (corneal light reflex) แตกกระจาย ก็แสดงว่าน่าจะเป็นแค่กระจกตาถลอก (corneal abrasion) ซึ่งแนวทางการรักษาคือให้ป้ายยาป้ายตาและปิดตาแน่นไว้ 24 ชั่วโมง. แต่ถ้าเห็นเป็นจุดฝ้าขาวๆ ชัดเจนที่กระจกตาดำ ก็ให้สงสัยว่าเป็นแผลติดเชื้อที่กระจกตา (corneal ulcer) ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางตาเบื้องต้น ให้ใช้ antibiotic eyedrop ที่ดีที่สุดที่มีอยู่หยอดถี่ๆ ทุก 1-2 ชั่วโมงแล้วรีบส่งจักษุแพทย์ โดยไม่ต้องปิดตาเพราะจะทำให้เชื้อยิ่งเติบโตมากขึ้นได้.
นรากร วิมลเฉลา พ.บ.,ศูนย์ตาธรรมศาสตร์, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ., น.บ., สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, กรมการแพทย์ (บรรณาธิการ)
- อ่าน 8,124 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้