ถาม : คุณลุงอายุ 70 ปี มีปัญหาไปตรวจแล้วพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายแพทย์แนะนำให้ผ่าตัด แต่ต้องมีลำไส้อยู่หน้าท้องตลอดชีวิต คุณลุงเลยไม่ยอมผ่าตัดไม่ทราบว่าจะมีวิธีรักษาแบบอื่นๆ ที่ไม่ต้องมีลำไส้อยู่หน้าท้องได้หรือไม่คะ.
หมอใหม่
ตอบ : จากคำถามเข้าใจว่าคงหมายถึงมะเร็งทวารหนัก (rectal cancer) ซึ่งโดยปกติจะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการและอาการแสดง เช่น มีการขับถ่ายผิดปกติ อาจมีเลือดหรือมูกปนเลือดออกมากับอุจจาระหรือมีอาการปวดเบ่งด้วย. ในรายที่มะเร็งอยู่ ใกล้ปากทวารหนักมากอาจสามารถตรวจพบได้จากการตรวจทวารหนักด้วยนิ้วมือ (perrectal examination). สำหรับโรคนี้ การวินิจฉัยนอกเหนือจากอาการทางคลินิกแล้วจำเป็นจะต้องได้ชิ้นเนื้อด้วยวัตถุประสงค์อยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ คือ พิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งแน่ๆ และต้องการดูว่าเป็นเซลล์มะเร็งซึ่งมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เพราะมีผลต่อการตัดเนื้อทวารหนักส่วนปลายว่าจำเป็นต้องเอาออกจนถึงหูรูดทวารหนัก (sphincter) หรือไม่.
นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ก็มีผลต่อการเลือกชนิดการรักษา เช่น เพศชายหรือเพศหญิงซึ่งมีผลต่อความยากง่ายของการต่อลำไส้ ตำแหน่งของมะเร็งเมื่อเทียบกับหูรูดทวารหนัก การทำงานของหูรูดทวารหนักเดิมว่าดีหรือไม่ ลักษณะของมะเร็งว่ามีการกินลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรืออวัยวะในช่องท้องหรือไม่ และในขณะที่ผู้ป่วยมาหาแพทย์นั้นมีภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะเรื่องของการอุดตันอยู่ด้วยหรือไม่.
ในผู้ป่วยบางรายอาจพิจารณาการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี ก่อนผ่าตัดเพื่อหวังในแง่ของการลดขนาดของมะเร็งเพื่อที่จะสามารถเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเอาไว้ได้ ซึ่งจะพิจารณาในผู้ป่วยบางรายและไม่สามารถบอกได้ว่ารายใดจะตอบสนองต่อการรักษานี้หรือไม่.
ดังนั้นตำแหน่งของมะเร็งที่อยู่สูงกว่าทวารหนักไม่มากโดยเฉพาะระยะประมาณ 6-8 ซม.ลงมา จึงมีโอกาสที่จะต้องผ่าตัดเอาหูรูดทวารหนักออกไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผลทางพยาธิวิทยาเป็นกลุ่มเซลล์ชนิดรุนแรง (poorly differentiated) ซึ่งก็คือต้องมีลำไส้อยู่หน้าท้อง (colostomy) ตลอดชีวิต.
ในแง่ของการผ่าตัดที่ต้องมีลำไส้หน้าท้องตลอดชีวิตนั้นน่าจะหมายความถึงการผ่าตัดแบบ abdomino-perineal resection (APR) ซึ่งจะต้องตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออกไปกับก้อนมะเร็งด้วย ดังนั้นถ้ามีข้อบ่งชี้ที่จะต้องผ่าตัดและจำเป็นต้องเอาหูรูดทวารหนักออกไปด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หายขาดจากโรค จะไม่มีการรักษาอื่นๆ ที่สามารถทดแทนการผ่าตัดได้ครับ.
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.,ศัลยแพทย์, โรงพยาบาลรามาธิบดี
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ., น.บ., สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, กรมการแพทย์ (บรรณาธิการ)
- อ่าน 23,547 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้